ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐในการพิจารณาอนุญาต พร้อมกับเป็นหลักประกันด้านระยะเวลา ในการพิจารณาอนุญาตในการประกอบกิจการของประชาชน
โดยมีเหตุผลเนื่องจากพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางในการกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาและระยะเวลาในการอนุญาตอันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบกิจการ ยังขาดบทบัญญัติและกลไกการอนุญาต กรณีหน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ พิจารณาอนุญาตล่าช้า หรือไม่อนุญาตภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของประชาชนในการยื่นขออนุญาตหรือบริการได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐในการพิจารณาอนุญาต พร้อมกับเป็นหลักประกันด้านระยะเวลา ในการพิจารณาอนุญาตในการประกอบกิจการของประชาชน โดยกำหนดกลไกให้มีการอนุญาตโดยอัตโนมัติเมื่อได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
1. กำหนดกลไกการพิจารณาอนุญาตให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วนสำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นหรือต้องการได้รับอนุญาตหรือบริการอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ (ร่างมาตรา 12) หรือกรณีที่ประชาชนจะต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตหลายหน่วยงาน สามารถถือใบอนุญาตหลักเป็นใบอนุญาตแทนใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้องได้ (ร่างมาตรา 19) หรือกรณีที่ประชาชนจะต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตหลายหน่วยงาน ให้ผู้อนุญาตตามกฎหมายนั้นมีอำนาจพิจารณาคำขออนุญาตแทนหน่วยงานอื่นได้ โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหลายหน่วยงาน (ร่างมาตรา 20) รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์รับคำขอกลางโดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับคำขอตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาต ซึ่งดำเนินการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ร่างมาตรา 28) และหากใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตชำรุดในสาระสำคัญ สูญหายหรือถูกทำลาย ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องแจ้งความต่อพนักงานตำรวจก่อน สามารถยื่นขอออกใบอนุญาตได้ (ร่างมาตรา 26) เป็นต้น
2. กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานราชการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การกำหนดให้หน่วยงานผู้อนุญาตจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันด้านระยะเวลาให้กับประชาชนโดยเมื่อได้ยื่นคำขออนุญาตแล้ว ผู้อนุญาตจะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ และกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีหน้าที่ในการตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตว่าเป็นระยะที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ (ร่างมาตรา 8) เป็นต้น
3. กำหนดมาตรการในการพิจารณาอนุญาตไม่ให้เกิดความล่าช้า เช่น กำหนดระยะเวลาให้หน่วยงานต้องพิจารณาคำขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันหรือตามที่มีกฎหมายกำหนดแล้วแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า และหากประชาชนหรือภาคเอกชนได้ร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการหรือขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็นจนเป็นเหตุให้การพิจารณาอนุญาตล่าช้า กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สามารถเสนอให้หน่วยงานผู้อนุญาตแก้ไขกระบวนการหรือขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็นนั้นได้ (ร่างมาตรา 8) และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอพบว่าคำขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดเอกสารหรือหลักฐานใดให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบทันที เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคำขอ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคำขอเพราะเหตุจากคำขอไม่ถูกต้อง(ร่างมาตรา 10) เป็นต้น
4. กำหนดมาตรการกรณีหน่วยงานไม่พิจารณาอนุญาตภายในระยะเวลากำหนด เช่น ในกรณีที่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ไม่แจ้งผลการพิจารณาตามระยะเวลาในคู่มือ ให้ถือว่าอนุญาตตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาหรือในกรณีที่ไม่จัดทำคู่มือ หรือจัดทำคู่มือไว้แล้ว แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตไว้อย่างชัดเจน ให้ถือว่าอนุญาตเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับถัดจากวันที่ผู้ขออนุญาตยื่นคำขอ ถือเป็นการกำหนดกลไกลการอนุญาตโดยอัตโนมัติ (ร่างมาตรา 14)
ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)
1. สำนักนายกรัฐมนตรี
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงการคลัง
4. กระทรวงการต่างประเทศ
5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
6. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8. กระทรวงคมนาคม
9. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
11. กระทรวงพลังงาน
12. กระทรวงพาณิชย์
13. กระทรวงมหาดไทย
14. กระทรวงยุติธรรม
15. กระทรวงแรงงาน
16. กระทรวงวัฒนธรรม
17. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
18. กระทรวงศึกษาธิการ
19. กระทรวงสาธารณสุข
20. กระทรวงอุตสาหกรรม
21. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
22. คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
23. ภาคธุรกิจและภาคเอกชน
24. ประชาชนทั่วไป
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมของขั้นตอนและระยะเวลาในระบบอนุญาตก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 8)
2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำคู่มือให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หรือตามที่มีกฎหมายกำหนดแล้วแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 8)
3. ท่านเห็นด้วยที่กำหนดให้ผู้อนุญาตจะต้องตรวจสอบ ทบทวน และปรับปรุงกระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชนเป็นประจำอย่างน้อยทุกสองปี หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 9)
4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การประกอบกิจการหรือดำเนินการใดที่ประชาชนต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตมากกว่าหนึ่งราย สามารถถือใบอนุญาตหลักเป็นใบอนุญาตแทนใบอนุญาตอื่นที่เกี่ยวข้องได้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหลือให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 19)
5. ท่านเห็นด้วยกับกรณีที่ประชาชนต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตมากกว่าหนึ่งราย โดยให้ผู้อนุญาตตามกฎหมายนั้นมีอำนาจในการพิจารณาคำขออนุญาตแทนกันได้ และกรณีที่คำขอใดผู้มีอำนาจในการออกคำขอเป็นคณะกรรมการ สามารถที่จะให้หน่วยงานของรัฐหรือหัวหน้าหน่วยงาน มีอำนาจในการพิจารณาคำขอแทนคณะกรรมการได้ หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 20)
6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้การประกอบกิจการที่ต้องขออนุญาตซึ่งไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้ประชาชนอาจทดลองประกอบกิจการนั้นเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 21)
7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดหน้าที่ของผู้อนุญาตในการออกใบแทนใบอนุญาต กรณีใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่อใบอนุญาตชำรุด สูญหายหรือถูกทำลาย โดยไม่ต้องให้ผู้รับอนุญาตแจ้งความต่อพนักงานตำรวจก่อน หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 26)
8. กรณีกฎหมายกำหนดอายุใบอนุญาตไว้และคณะรัฐมนตรีเห็นว่าใบอนุญาตดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่มีความจำเป็นต้องมีอายุใบอนุญาตอีกต่อไป ท่านเห็นด้วยกับการให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุไม่น้อยกว่าห้าปี หรือไม่มีกำหนดอายุใบอนุญาตก็ได้ หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 22)
9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดเรื่องโทษทางอาญา โดยการกำหนดฐานความผิด เช่น บุคคลใดเข้ารับราชการทหารกองประจำการแทนผู้อื่น หลีกเลี่ยง หรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการ กระทำการทุจริต เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เป็นต้น และอัตราโทษที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
10. ท่านเห็นว่าที่ผ่านมีปัญหาเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร
11. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)