สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

หลักการ

     ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติที่ไม่มีภัยสงคราม และยกระดับคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทหารกองประจำการ

เหตุผล

     โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีระบบเกณฑ์ทหารที่บังคับชายไทยบางส่วน เข้ารับราชการทหารในห้วงเวลาที่ไม่มีภัยสงครามซึ่งนำไปสู่การลิดรอนเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพในระดับปัจเจกบุคคล และการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในวัยทำงานออกจากระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศ การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารเพื่อให้กองทัพประกอบด้วยเพียงบุคคลที่สมัครใจเข้ารับราชการทหารจะทำให้กองทัพดำเนินการภารกิจการรักษาความมั่นคงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากทำควบคู่กับการลดยอดกำลังพลที่ไม่จำเป็นและการยกระดับคุณภาพชีวิตของทหารกองประจำการ ในด้านของรายได้สวัสดิการ ความก้าวหน้าทางอาชีพ ความปลอดภัยทางร่ายกายและจิตใจ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งจะนำไปสู่ยอดจำนวนผู้สมัครใจที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

     1. ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 รวมถึงพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และประกาศของคณะปฏิวัติทุกฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 226 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2515 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 300 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 (ร่างมาตรา 3)

     2. กำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องกับการรับราชการทหาร (ร่างมาตรา 4)

     3. กำหนดให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลเป็นภูมิลำเนาทหาร (ร่างมาตรา 5)

     4. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 6)

     5. กำหนดให้ชายไทยตามกฎหมายถูกบรรจุลงบัญชีทหารกองเกิน เมื่อมีอายุย่างเข้าสิบแปดปี ตามรายละเอียดที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 7)

     6. เปิดให้บุคคลทุกเพศสามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้ (ร่างมาตรา 8)

     7. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติและกำหนดให้ใช้วิธีการคัดเลือกทหารกองประจำการจากบุคคลที่สนใจสมัครรับราชการทหารด้วยตนเองเท่านั้น โดยกำหนดให้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินคราวละห้าปีและต้องคำนึงถึงโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ (ร่างมาตรา 9)

     8. เปิดให้คณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาจะเรียกและตรวจเลือกบุคคลเข้ากองประจำการ ในกรณีที่มีเหตุปรากฏที่ทำให้ประเทศอาจเผชิญสงครามในอนาคตอันใกล้ (ร่างมาตรา 10)

     9. ยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหาร โดยการสนับสนุนการทบทวนรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (ร่างมาตรา 11) กำหนดให้หลักสูตรฝึกวิชาทหาร ส่งเสริมความรู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหาร และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทหาร วิธีการฝึกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ร่างมาตรา 12) และกำหนดห้ามนำทหารกองประจำการไปทำงานรับใช้ส่วนตัวหรือกระทำการใดที่ละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ (ร่างมาตรา 13)

     10. กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับขั้นตอนธุรการต่างๆ เช่น การขึ้นบัญชีทหารกองเกิน (ร่างมาตรา 7) การรับสมัครบุคคลเข้าเป็นทหารกองประจำการ (ร่างมาตรา 9) การรับราชการทหารกองประจำการ (ร่างมาตรา 14) การปลดทหารกองประจำการ (ร่างมาตรา 15 - 38) โดยกำหนดให้มีกฎกระทรวงเพื่อระบุรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

     11. กำหนดฐานความผิด และอัตราโทษที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติรับราชการทหารฉบับนี้ (ร่างมาตรา 19 - 23)

     12. กำหนดขั้นตอนรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาสู่พระราชบัญญัติรับราชการทหารฉบับนี้ (ร่างมาตรา 24)

     13. กำหนดให้ผู้ใดที่มีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถือว่าไม่เคยมีความผิด (ร่างมาตรา 25)

     14. กำหนดห้ามมิให้กระทรวงกลาโหมทำการเรียกและตรวจเลือกคนเข้ากองประจำการตามมาตรา 10 จนกว่าจะออกระเบียบ ประกาศ หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ (ร่างมาตรา 26)

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงกลาโหม

     2. กองบัญชาการกองทัพไทย

     3. กองทัพบก

     4. กองทัพเรือ

     5. กองทัพอากาศ

     6. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลเป็นภูมิลำเนาทหาร

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ การกำหนดให้ชายไทยตามกฎหมายถูกบรรจุลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้าสิบแปดปี และการเปิดให้บุคคลทุกเพศสามารถสมัครเป็นทหารกองประจำการได้

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และกำหนดให้ใช้วิธีการคัดเลือกทหารกองประจำการจากบุคคลที่สนใจสมัครรับราชการทหารด้วยตนเองเท่านั้น

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารกองประจำการ โดยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินคราวละห้าปีและต้องคำนึงถึงโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการเปิดให้คณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาจะเรียกและตรวจเลือกบุคคลเข้ากองประจำการ ในกรณีที่มีเหตุปรากฏที่ทำให้ประเทศอาจเผชิญสงคราม

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหาร โดยการสนับสนุนรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้มีหลักสูตรฝึกวิชาทหาร ส่งเสริมความรู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหาร และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทหาร และวิธีการฝึก

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดห้ามนำทหารกองประจำการไปทำงานรับใช้ส่วนตัวหรือกระทำการใดที่ละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ

     9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดเรื่องโทษทางอาญา โดยการกำหนดฐานความผิด เช่น บุคคลใดเข้ารับราชการทหารกองประจำการแทนผู้อื่น หลีกเลี่ยง หรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการ กระทำการทุจริต เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เป็นต้น และอัตราโทษที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

     10. ปัจจุบันการดำเนินการตาม พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2498 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 รวมถึงพระราชบัญญัติรับราชทหารฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และประกาศของคณะปฏิวัติทุกฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 226 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2515 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 300 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

     11. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)