สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย เรืออากาศโท ธนเดช เพ็งสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

     ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระหรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้กองทัพมีความทันสมัย โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่กำหนดให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

     ปัจจุบันทหารและกองทัพมีอำนาจทางการเมืองผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางอำนาจของกองทัพให้อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ เช่น อำนาจของสภาโหมในการกำหนดนโยบายและพิจารณางบประมาณทางการทหาร อำนาจของคณะกรรมการแต่งตั้งนายพลที่ประกอบไปด้วย ข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างการบริหารจัดการและการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับหน่วยงานส่วนราชการอื่นควรที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการและการใช้อำนาจเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ตารางเปรียบเทียบ (เอกสารแนบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

     1. กระทรวงกลาโหม

     2. กองบัญชาการกองทัพไทย

     3. กองทัพบก

     4. กองทัพเรือ

     5. กองทัพอากาศ

     6. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

     1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ทางทหาร” โดยกำหนดคำนิยาม “เจ้าหน้าที่ทางทหาร” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติภารกิจตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภากลาโหม

     2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการตัดตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ออกจากตำแหน่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสามารถมอบอำนาจให้ ทำหน้าที่แทนได้

     3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นำระบบคุณธรรมด้วยการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง มาใช้ในการบริหารจัดการกำลังพลของกระทรวงกลาโหม การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงและส่วนราชการในกองทัพไทย

     4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การส่งกำลังบำรุงร่วมและการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพไทย กระทรวงกลาโหมต้องกำหนด ระเบียบ หลักเกณฑ์ กระบวนการและขั้นตอนปฏิบัติโดยต้องคำนึงถึงความจำเป็นยิ่งยวด ความประหยัด มาตรฐาน ขีดความสามารถในการรบ และต้องดำเนินการโดยสุจริต โปร่งใส เปิดเผย ศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติเฉพาะ พิจารณาถึงการส่งกำลังบำรุง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้มีการจ้างงานภายในประเทศ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ นั้นด้วยทุกขั้นตอน

     5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กำลังทหารเพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติหรือเพื่อสันติภาพของกองทัพ การสั่งยกเลิกหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ทางทหารการรบหรือการสงคราม หรือการปราบปรามการกบฏสิ้นสุดลง หรือมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก ให้สภากลาโหมมีเพียงอำนาจ
ในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนการให้ความเห็นชอบ

     6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการลดและเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสมาชิกสภากลาโหม เหลือเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิ

     7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้ส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหมถือปฏิบัติตามมติของสภากลาโหม

     8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สมาชิกสภากลาโหมที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และให้ดำเนินการเลือกสมาชิกสภากลาโหมแล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และในระหว่างยังไม่มีการแต่งตั้งสมาชิกสภากลาโหมในวาระเริ่มแรกให้ถือว่า ยังไม่มีสภากลาโหมและอำนาจหน้าที่ของสภากลาโหมทั้งหมดยังไม่มีผลใช้บังคับ

     9. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)