สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้กำหนดให้อายุความสะดุหยุดอยู่กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ และไม่ได้กำหนดเลื่อนไขในการร้องทุกข์ในกรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ผู้มีกายพิการหรือ
จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ รวมทั้งเพิ่มฐานความผิดให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคี และแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก สมควรต้องมีการแก้ไขเพื่อการปกป้องและคุ้มครองผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้

1.  กำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าผู้เสียหายจะบรรลุนิติภาวะ

ในความผิดตามมาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ (1) มาตรา 277 ตรี (1) มาตรา 278 มาตรา 279 มาตรา 280 (1) มาตรา 282 วรรคสองและวรรคสาม มาตรา 283 วรรคสอง และวรรคสาม
มาตรา 283 ทวิวรรคสอง และวรรคสาม และมาตรา 284 ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ จนกว่าผู้เสียหายจะบรรลุนิติภาวะ (ร่างมาตรา 95/1)

2.  เพิ่มเงื่อนไขในการร้องทุกข์กรณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ ผู้มีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ

ในกรณีที่ผู้เยาว์ ผู้มีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้เสียหาย ถ้าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด และอยู่ในสภาพที่จะร้องทุกข์ได้เอง หรือผู้ปกครอง ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี ได้ร้องทุกข์แทนภายในสามเดือนนับแต่วันที่ ผู้ปกครอง ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ ได้รู้เรื่องความผิดรู้ตัวผู้กระทำความผิด ถือว่ายังไม่ขาดอายุความร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่ง ผู้ปกครอง ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ตามความในวรรคสอง
ให้หมายความรวมถึง ผู้ปกครอง ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ตามความเป็นจริง (ร่างมาตรา 96 วรรคสอง) 

3.  เพิ่มความผิดฐานการไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย คำพิพากษาหรือ
สัญญาหย่า   

3.1 ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้มีคำพิพากษา หรือสัญญาหย่าให้ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตรที่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือการพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจของบุตรที่มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนครบถ้วนก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี ให้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด (ร่างมาตรา 307/1)

3.2 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 306 มาตรา 307 หรือ มาตรา 307/1
เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งหรือบุตรที่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น (ร่างมาตรา 308)

4.  เพิ่มความผิดฐานการบังคับสมรส   

4.1 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 309 ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ หรือใช้อำนาจครอบงำผู้อื่นให้ทำการสมรสหรืออยู่กินกันฉันสามีภริยา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ใดในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้นำผู้อื่นที่ถูกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญหรือหลอกลวงไปนอกราชอาณาจักร ช่วยเหลือในการนำไปนอกราชอาณาจักรหรือขัดขวางไม่ให้
กลับเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดในวรรคหนึ่ง (ร่างมาตรา 309/1)

4.2 ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม ยินยอมหรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีสมรสกับผู้อื่นไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 309/2)

5.  เพิ่มความผิดฐานผู้มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูละเลยหน้าที่  

ผู้ใดละเมิดต่อหน้าที่ของตนโดยจงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก หรือปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก ในการที่ตนจะต้องให้การดูแลหรือบรมเลี้ยงดูแก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และเป็นผลให้เด็กที่ได้รับการดูแลหรืออบรมเลี้ยงดูดังกล่าวตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้ทำการเลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำแล้ว ให้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด (ร่างมาตรา 309/3)

6.  เพิ่มความผิดฐานการสมรสในระหว่างเครือญาติ  

ผู้ใดมีเพศสัมพันธ์กับผู้สืบสันดานของตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดมีเพศสัมพันธ์กับบุพการีของตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับวรรคสองหากพี่น้องร่วมสายโลหิตมีเพศสัมพันธ์ต่อกันผู้สืบสันดานและพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาไม่ต้องรับโทษ
ตามมาตรานี้หากในขณะที่กระทำความผิดบุคคลดังกล่าวมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี (ร่างมาตรา 309/4)

7.  เพิ่มความผิดฐานการคุกคามต่อเสรีภาพ ผู้ใดกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยการกระทำซ้ำ ดังต่อไปนี้

(1) ติดตามในระยะใกล้ชิด

(2) ใช้เครื่องมือติดต่อสื่อสารหรือวิธีอื่นใดของการติดต่อสื่อสาร

(3) ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบในการสั่งสินค้าหรือบริการ ให้แก่ผู้นั้น

(4) ข่มขู่ให้เกิดความกลัวอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือ

(5) การคุกคามอื่นใด นอกจาก (1) (2) (3) และ (4)

และการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ต้องระวางโทษจำคุก
ไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้คุกคาม สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่ใกล้ชิดของผู้ถูกคุกคามนั้น เป็นอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงห้าปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้คุกคาม สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่ใกล้ชิดของผู้ถูกคุกคามนั้น ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี

กรณีตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ (ร่างมาตรา 309/5)

8.  เพิ่มความผิดฐานการซื้อขายเด็ก 

8.1 ผู้ใดขายหรือมอบให้ไปแก่ผู้อื่นซึ่งบุตร หรือเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน เพื่อแลกกับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่
ก็ตามต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดให้เงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นใดเป็นการตอบแทนในการซื้อหรือรับมอบเด็กตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานซื้อเด็ก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง

ผู้ใดให้การสนับสนุนการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

ผู้ใดลักพาหรือนำพาหรือกระทำด้วยประการอื่นใด ให้ได้ไปซึ่งตัวเด็กอายุไม่เกิน
สิบห้าปีไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่เป็นการกระทำต่อเด็กที่มีอายุไม่เกินสิบปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่
หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 320/1)

8.2 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 320/1 เป็นเหตุให้เด็ก

(1) ได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
(ร่างมาตรา 320/2)

8.3 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 320/1 วรรคหนึ่ง วรรคสองหรือวรรคสาม ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดได้เลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือยกเว้นโทษก็ได้ (ร่างมาตรา 320/3) 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงยุติธรรม

2. กระทรวงมหาดไทย

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4. สำนักงานอัยการสูงสุด

5. สำนักงานศาลยุติธรรม

6. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

7. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 

8. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการกำหนดให้อายุความสะดุดหยุดอยู่จนกว่าผู้เสียหาย จะบรรลุนิติภาวะ (ร่างมาตรา 95/1)

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเงื่อนไขในการร้องทุกข์กรณีผู้เสียหานเป็นผู้เยาว์ ผู้มีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ (ร่างมาตรา 96 วรรคสอง)

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานการไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย คำพิพากษาหรือสัญญาหย่า (ร่างมาตรา 307/1 และร่างมาตรา 308) 

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานการบังคับสมรส (ร่างมาตรา 309/1 และร่างมาตรา 309/2) 

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานผู้มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูละเลยหน้าที่(ร่างมาตรา 309/3)

6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานการสมรสในระหว่างเครือญาติ (ร่างมาตรา 309/4)   

7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานการคุกคามต่อเสรีภาพ (ร่างมาตรา 309/5)    

8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มความผิดฐานการซื้อขายเด็ก (ร่างมาตรา 320/1ร่างมาตรา 320/2 และร่างมาตรา 320/3)  

9. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ  (ถ้ามี)