สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดให้ลักษณะการโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง ส่งหรือส่งต่อซึ่งเรื่องทางเพศไม่เหมาะสม การข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ส่งต่อซึ่งข้อความ ภาพ เสียงที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศ เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นความผิดทางอาญา รวมถึงไม่ได้กำหนดการกระทำความผิดซ้ำกรณีการเฝ้าดูหรือติดตามอันทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความรำคาญและการกลั่นแกล้ง รังแก ระราน ข่มเหงต่อผู้อื่นผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์เป็นการกระทำความผิดต่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จากสถานการณ์ปัจจุบันได้มีการกระทำดังกล่าวที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางจิตใจร่างกาย และทรัพย์สินต่อผู้ถูกกระทำ ดังนั้น สมควรกำหนดโทษทางอาญาเพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำและป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมร้ายแรง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

          ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

          1. กำหนดการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรโดยเพิ่มบทบัญญัติของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพ (ร่างมาตรา ๓ และร่างมาตรา ๔)

          2. กำหนดการกระทำความผิดอันมีลักษณะการโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง ส่งหรือส่งต่อซึ่งเรื่องทางเพศไม่เหมาะสม การข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ส่งต่อซึ่งข้อความ ภาพ เสียงที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศ เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา ๖)

          3. กำหนดบทลงโทษโดยเพิ่มการกระทำความผิดอันมีลักษณะการโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง ส่งหรือส่งต่อซึ่งเรื่องทางเพศไม่เหมาะสม (ร่างมาตรา 7 ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 9)

          4. กำหนดบทลงโทษการกระทำความผิดการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือช่องทางโทรคมนาคม (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)

          5. กำหนดการกระทำความผิดซ้ำกรณีการเฝ้าดูหรือติดตามอันทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความรำคาญ และการกลั่นแกล้ง รังแก ระราน ข่มเหงต่อผู้อื่นผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์ การกำหนดความผิดอันยอมความได้ และเพิ่มบทลงโทษกรณีบุคคลที่เป็นผู้ดูแลระบบหรือเข้าถึงข้อมูลได้ (ร่างมาตรา 12 ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานศาลยุติธรรม
  2. สำนักงานอัยการสูงสุด
  3. กระทรวงยุติธรรม
  4. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  5. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  7. สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
  8. กรมพระธรรมนูญ
  9. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
  10. มูลนิธิเด็ก
  11. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
  12. สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
  13. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
  14. สมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ
  15. มูลนิธิผู้หญิง
  16. มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
  17. สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี
  18. สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
  19. ประชาชนทั่วไป

 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรโดยเพิ่มบทบัญญัติของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพ (ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4)
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การกระทำความผิดอันมีลักษณะการโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง ส่งหรือส่งต่อซึ่งเรื่องทางเพศไม่เหมาะสม การข่มขู่ว่าจะเผยแพร่ส่งต่อซึ่งข้อความ ภาพ เสียงที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่เหมาะสมทางเพศ เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ (ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 6)
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทลงโทษโดยเพิ่มการกระทำความผิดอันมีลักษณะการโน้มน้าว จูงใจ ล่อลวง ส่งหรือส่งต่อซึ่งเรื่องทางเพศไม่เหมาะสม (ร่างมาตรา ๗ ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 9)
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทลงโทษการกระทำความผิดการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือช่องทางโทรคมนาคม (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดการกระทำความผิดซ้ำกรณีการเฝ้าดูหรือติดตามอันทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความรำคาญ และการกลั่นแกล้ง รังแก ระราน ข่มเหงต่อผู้อื่นผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือระบบคอมพิวเตอร์ การกำหนดความผิดอันยอมความได้ และเพิ่มบทลงโทษกรณีบุคคลที่เป็นผู้ดูแลระบบหรือเข้าถึงข้อมูลได้ (ร่างมาตรา 12 ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14)
  6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)