สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง กรณีที่ผู้สร้างสรรค์ สร้างสรรค์งานขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ซึ่งในขณะทำสัญญาผู้สร้างสรรค์งานและนายจ้างต่างมีฐานะที่ไม่เท่าเทียมกัน ข้อสัญญาในการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนจึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการเผยแพร่งานต่อสาธารณชน ประกอบกับความต้องการของคู่สัญญาที่มีความประสงค์จะแก้ไขข้อสัญญาที่เกิดความเป็นธรรม และกรณีชำระค่าลิขสิทธิ์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องมีความชัดเจน เพื่อป้องกันการเรียกเก็บลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อนและผู้ประกอบกิจการสามารถดำเนินคดีกับเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวแทน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ หากมีการเรียกค่าลิขสิทธิ์ซ้ำ ส่วนการควบคุมผลงานและสัดส่วนการทำงานของตัวแทนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นหน้าที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างหรือมีการเก็บลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแห่งการนั้นเห็นควรให้เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 สาระสำคัญ

          ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

          1. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ เห็นว่าข้อสัญญาเกี่ยวกับข้อตกลงในการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่เป็นธรรม และมีความประสงค์จะแก้ไข ให้ผู้สร้างสรรค์ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้าง และนายจ้าง มีหน้าที่จะต้องพิจารณาความประสงค์ของผู้สร้างสรรค์โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของสัญญา และแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้สร้างสรรค์โดยไม่ชักช้าเพื่อทำเป็นหนังสือตกลงกันฉบับใหม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือผู้สร้างสรรค์งานไม่พอใจกับผลการพิจารณาของนายจ้าง สามารถยื่น
คำฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อนายจ้างได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9) (ร่างมาตรา 3)

          2. กำหนดให้ผู้ให้บริการประกอบกิจการและใช้ผลงานที่สร้างสรรค์เผยแพร่ต่อสาธารณชน ประกอบกิจการและได้มีการชำระค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ให้มีการออกเอกสารการชำระค่าลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการเรียกเก็บซ้ำ หากมีตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์มาเรียกเก็บซ้ำ ให้ผู้บริการสามารถดำเนินคดีกับตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และการควบคุมผลงานและสัดส่วนการทำงานของตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นหน้าที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์หากตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างหรือมีการเก็บลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแห่งการนั้น (แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 36) (ร่างมาตรา 4)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  กระทรวงพาณิชย์
  2.  สำนักงานศาลยุติธรรม
  3.  สมาคมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย
  4.  สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย
  5.  สมาพันธ์องค์กรผู้ใช้งานลิขสิทธิ์ไทย
  6.  สมาคมนายจ้างผู้ประกอบกิจการออกแบบและจัดพิมพ์
  7.  สมาคมนายจ้างผู้ประกอบการออกแบบวิศวกรรม
  8.  สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย
  9.  ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เห็นว่า ข้อสัญญาเกี่ยวกับข้อตกลงในการนำงานออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่เป็นธรรม และมีความประสงค์จะแก้ไขให้ผู้สร้างสรรค์ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้าง และนายจ้าง มีหน้าที่จะต้องพิจารณาความประสงค์ของผู้สร้างสรรค์โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของสัญญา และแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้สร้างสรรค์โดยไม่ชักช้าเพื่อทำเป็นหนังสือตกลงกันฉบับใหม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือผู้สร้างสรรค์งานไม่พอใจกับผลการพิจารณาของนายจ้าง สามารถยื่นคำฟ้องเพื่อดำเนินคดีต่อนายจ้างได้ (ร่างมาตรา 3)
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับกำหนดให้ผู้ให้บริการประกอบกิจการและใช้ผลงานที่สร้างสรรค์เผยแพร่ต่อสาธารณชนประกอบกิจการและได้มีการชำระค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้มีการออกเอกสารการชำระค่าลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการเรียกเก็บซ้ำ หากมีตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์มาเรียกเก็บซ้ำ ให้ผู้บริการสามารถดำเนินคดีกับตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และการควบคุมผลงานและสัดส่วนการทำงานของตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นหน้าที่ของเจ้าของลิขสิทธิ์หากตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างหรือมีการเก็บลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแห่งการนั้น (ร่างมาตรา 4)
  3. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)