โดยที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ได้มีการเพิ่มอัตราโทษปรับในฐานความผิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกประมาณสี่เท่าตัว ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดหลักการในการตรากฎหมายพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิด ร้ายแรง และนำผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตราเป็นกฎหมาย ในประเด็นเกี่ยวกับเงินรางวัลค่าปรับจราจรเห็นว่าควรยกเลิกเงินค่าปรับจราจรแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนำเงินค่าปรับส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งจำนวน เพื่อจะได้มีเงินรายได้นำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น เช่น ด้านการศึกษา และกำหนดให้เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ในจังหวัดหรือท้องถิ่นตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดหรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจำนวนที่จะต้องมีภารกิจเกี่ยวกับการอำนวยการและการจัดการจราจร จึงได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก โดยมีสาระสำคัญ คือ
1. กำหนดให้ยกเลิกอัตราโทษปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในทุกฐานความผิดที่ได้กำหนดโทษปรับไว้ และให้ใช้อัตราโทษปรับไม่เกินอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำตามที่รัฐกำหนด (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้การนำส่งเงินค่าปรับที่ได้รับชำระจากค่าปรับที่ค้างชำระ ตามที่นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกได้แจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบ ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งจำนวน จากเดิมที่กำหนดให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในอัตราร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ได้รับ และส่วนเงินที่เหลือให้นำส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดให้เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ได้รับในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใด หรือในท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ให้ตกเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือท้องถิ่นทั้งจำนวน จากเดิมที่กำหนดให้เงินค่าปรับตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ได้รับในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใด หรือในท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ให้แบ่งให้แก่กรุงเทพมหานครหรือเทศบาลในจังหวัดนั้นเพื่อใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจราจร ในอัตราร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินค่าปรับ หรือให้ตกเป็นของท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดทั้งหมด (ร่างมาตรา 5)