โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติเกี่ยวกับแนวนโยบายของรัฐ กำหนดหลักการให้รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สมควรจัดตั้งสำนักงานทนายรัฐ เพื่อการจัดหาทนายความ และมีกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการเงิน กรณีเกี่ยวกับการประกันตัว หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ อันจะเป็นการส่งเสริมคุ้มครองให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินควร อันเป็นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นธรรม มีมนุษยธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักนิติธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
1. วิเคราะห์ ระบุสภาพปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ
สภาพปัญหา
ประชาชนยังด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เนื่องด้วยไม่มีทนายความและทุนทรัพย์ในการดำเนินคดี
สาเหตุ
ประชาชนไม่มีหรือมีทุนทรัพย์น้อยที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตลอดทั้งคดี รวมถึงการว่าจ้างทนายความ
ผลกระทบ
การไม่มีทุนทรัพย์ทำให้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อออกไปต่อสู้คดี หรือจ่ายเป็นค่าปรับ
การไม่มีทนายความในการว่าความ แนะนำ หรือแก้ต่าง อาจมีข้อบกพร่องในการดำเนินคดี หรืออาจไม่ทราบถึงสิทธิหน้าที่ หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ตนพึงมีพึงได้
2. วิธีแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน
ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ภาครัฐได้กำหนดมาตรการในการดำเนินคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนละค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กฎหมายว่าด้วยทนายความ และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง
3. วิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558
- พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนละค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา
พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนละค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
- พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
- พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
- กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
- กฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
- กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
- กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
4. รัฐจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงหรือไม่
ไม่จำเป็น เนื่องจากรัฐได้มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดแล้ว
5. กำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมาย ความต้องการให้เกิดผลอย่างไร
- เพื่อต้องการให้รัฐจัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกคดี และให้มีกองทุนเพื่อให้
ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ และจำเลย ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ จำนวน 17 มาตรา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. การกำหนดชื่อร่าง วันบังคับใช้ คำนิยาม และรัฐมนตรีรักษาการ
1.1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสำนักงานทนายรัฐ พ.ศ. ....” (ร่างมาตรา 1)
1.2 พระราชบัญญัตินี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)
1.3 ในพระราชบัญญัตินี้
“พนักงานฝ่ายปฏิบัติการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งและดำเนินการในการรับว่าความตามพระราชบัญญัตินี้
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานทนายรัฐ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานทนายรัฐ (ร่างมาตรา 3)
1.4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)
2. การกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทนายรัฐ อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ
2.1 ให้จัดตั้งสำนักงานทนายรัฐ ขึ้นเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเป็นกลาง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1) ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการว่าความให้แก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์และจำเลย
ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
2) ให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพ
ของประชาชน
3) ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน
4) ออกระเบียบที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนหรือเงินเพิ่ม และประโยชน์อย่างอื่น
การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ให้ทำเป็นประกาศสำนักงาน
ประกาศตามวรรคสอง เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
การบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของสำนักงานทนายรัฐให้เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด
ในวาระเริ่มแรกยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสี่ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อน (ร่างมาตรา 5)
2.2 ให้สำนักงานทนายรัฐเสนองบประมาณรายจ่ายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 5)
2.3 ให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงาน
และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานฝ่ายปฏิบัติการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานขึ้นตรง
ต่อนายกรัฐมนตรีโดยจะให้มีรองผู้อำนวยการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานตามที่ผู้อำนวยการมอบหมายก็ได้
ให้มีรองผู้อำนวยการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมตามที่ผู้อำนวยการมอบหมาย
ผู้อำนวยการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ และมีอำนาจในการออกระเบียบ กฎ คำสั่ง หรือประกาศ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 7)
3. การกำหนดเกี่ยวกับผู้อำนวยการสำนักงานทนายรัฐ
3.1 ผู้อำนวยการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและการพ้นตำแหน่งให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 8)
3.2 ผู้อำนวยการมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางในอัตรา
ซึ่งรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้วเทียบเท่ากับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง
ของปลัดกระทรวง และให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษจนกว่าจะออกจากราชการ
ให้พนักงานฝ่ายปฏิบัติการ พนักงาน และลูกจ้าง ของสำนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงานและการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมโดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
อัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง และการให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งของพนักงานฝ่ายปฏิบัติการ พนักงาน และลูกจ้าง ให้นำกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมการจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่พนักงานฝ่ายปฏิบัติการ พนักงาน และลูกจ้าง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการแต่งตั้งพนักงานฝ่ายปฏิบัติการ รวมถึงอัตราค่าตอบแทน การจ่ายค่าตอบแทนหรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่ผู้อำนวยการกำหนด
(ร่างมาตรา 9)
4. การกำหนดเกี่ยวกับกองทุนสำนักงานทนายรัฐ
4.1 ให้จัดตั้งกองทุนสำนักงานทนายรัฐขึ้นในสำนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) สนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี การตรวจค้น
การยึดหรืออายัด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยาน หรือการอื่นใด
ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวงเงินประกันตัวประชาชน รวมทั้งการสนับสนุนหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการดำเนินการนั้น
(2) ส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเกี่ยวกับ
การเผยแพร่และการให้ข้อมูลข่าวสาร การประชุมหรือการจัดการศึกษาอบรม การร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนสำนักงาน
(3) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการช่วยเหลือในการประกันตัวในคดีอาญา
(4) ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานทนายรัฐ (ร่างมาตรา 10)
4.2 กองทุนสำนักงานทนายรัฐ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(1) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อสมทบเข้ากองทุน
(2) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนเงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุน ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเงินและทรัพย์สินของกองทุน ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการกำหนด (ร่างมาตรา 11)
4.3 การบริหารและการจัดการกองทุนให้เป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด (ร่างมาตรา 12)
4.4 หน้าที่และอำนาจในการบริหารและการจัดการกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนด ระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุน เพื่อดูแลรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะกรรมการกองทุนดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่สำนักงานหนึ่งคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
กับการอำนวยการยุติธรรมหนึ่งคน (ร่างมาตรา 13)
4.5 ภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณให้กองทุนส่งรายงานการเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้ว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินนั้น แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป (ร่างมาตรา 14)
4.6 การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน และการเก็บรักษาทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (ร่างมาตรา 15)
4.7 อำนาจหน้าที่ในการบริหาร การจัดการ การจัดหาผลประโยชน์ การจำหน่ายทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (ร่างมาตรา 16)
5. การกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใด
ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นให้จ่ายจากกองทุน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง (ร่างมาตรา 17)
หน่วยงานของรัฐ
1. กระทรวงยุติธรรม
2. กระทรวงการคลัง
3. สภาทนายความ
4. สำนักนายกรัฐมนตรี
5. สำนักงบประมาณ
6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
7. สำนักงานอัยการสูงสุด
8. สำนักงานศาลยุติธรรม
9. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
10. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)
ภาคประชาสังคม
1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
4. กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน
5. ทนายความ
6. ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายผู้เสียหาย ฝ่ายผู้ต้องหา และฝ่ายจำเลย
7. ประชาชนทั่วไป
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการกำหนดชื่อร่าง วันบังคับใช้ คำนิยาม และรัฐมนตรีรักษาการ
(ร่างมาตรา 1 ถึงร่างมาตรา 4)
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่เกี่ยวกับการกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทนายรัฐ อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน และอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการ (ร่างมาตรา 5 ถึงร่างมาตรา 7)
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับผู้อำนวยการสำนักงานทนายรัฐ (ร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 9)
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับกองทุนสำนักงานทนายรัฐ (ร่างมาตรา 10 ถึงร่างมาตรา 16)
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใด (ร่างมาตรา 17)
6. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)