โดยที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้มีการตราขึ้นใช้บังคับอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ร้ายแรงของการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป (อียู) หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันที อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำช้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษ และคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำผิด และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชการกำหนดการประมง พ.ศ 2558 ดังต่อไปนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมกิจการประมง และการจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่นภายใต้กติการะหว่างประเทศ ทั้งในฐานะของรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า และรัฐเจ้าของตลาด เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจตนา เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดำรงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ได้รับความสะดวก และได้รับการคุ้มครองในการประกอบอาชีพ
2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "ทะเลชายฝั่ง" "ทะเลหลวง" และยกเลิกนิยามคำว่า "โรงงาน"
3. แก้ไขเพิ่มเติมการออกกฎกระทรวงของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้ ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงได้เฉพาะที่พระราชกำหนดนี้บัญญัติให้ต้องออกเป็นกฎกระทรวงเท่านั้น
4. แก้ไขเพิ่มเติมการใช้อำนาจของรัฐไทยกรณีความผิดตามพระราชกำหนดนี้ที่เกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทยซึ่งการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทย และในกรณีที่มีเรือประมงกระทำความผิดในน่านน้ำไทยซึ่งได้หลบหนีไปยังรัฐชายฝั่งอื่น
5. แก้ไขเพิ่มเติมการรวบรวมสถิติการประมงและการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบ
6. ยกเลิกมาตราที่เกี่ยวข้องกับโรงงานภายใต้พระราชกำหนดนี้
7. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงแห่งชาติ
8. แก้ไขเพิ่มเติมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 13 ให้เกิดความชัดเจนทั้งผู้แทนสมาคมการประมงและนักวิชาการ
9. ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ทรงคุณวุฒิ
10. แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคราวละสามปี
11. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด
12. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการคัดเลือกตัวแทนองค์กรชุมชนส่วนท้องถิ่น
13. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในการออกประกาศ
14. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้จะทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตพื้นที่แต่ละจังหวัด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด และกำหนดให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการการทำประมงน้ำจืดให้กับผู้ได้รับอนุญาต
15. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ใดจะทำการประมงทะเลชายฝั่งในเขตพื้นที่แต่ละจังหวัดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดมอบหมาย
16. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ทำการประมงพื้นบ้านต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำการประมงตามที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนด และต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมงด้วย
17. แก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกการห้ามผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง
18. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้จะทำการประมงทะเลนอกชายฝั่งและประมงทะเลนอกน่านน้ำไทย ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ และให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทำประมงทะเลนอกชายฝั่งและประมงทะเลนอกน่านน้ำไทย
19. กำหนดห้ามออกใบอนุญาตให้กับเรือประมงที่มีลักษณะต้องห้าม
20. แก้ไขเพิ่มเติมการดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ให้สามารถกระทำได้หากได้จดแจ้งกับกรมประมงแล้ว
21. แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นในการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยและกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย รับจดทะเบียนเรือหรือออกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับการประมง
22. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยแยกผู้ขอรับใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่ทั้งในเขตของรัฐชายฝั่งอื่นและทะเลหลวงให้ชัดเจน
23. แก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่กฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรการการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงของรัฐชายฝั่งหรือองค์การระหว่างประเทศที่บังคับใช้กับผู้รับใบอนุญาตทำประมงนอกน่านน้ำไทยนั้นขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ ให้งดเว้นการใช้พระราชกำหนดนี้กับผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว
24. แก้ไขเพิ่มเติมในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยทำการประมงในเขตรัฐชายฝั่งอื่น ที่กำหนดการมีผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐชายฝั่งนั้นกำหนด
25. แก้ไขเพิ่มเติมการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือครอบครองสัตว์น้ำวัยอ่อนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
26. กำหนดเงื่อนไขก่อนการออกประกาศตามมาตรา 56 และมาตรา 57
27 แก้ไขเพิ่มเติมการห้ามมิให้ล่าสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์เพื่อการค้า ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมงเพื่อการค้า เว้นแต่กรณีมีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิด และในกรณีที่มีการติดอวนขึ้นมาโดยไม่เจตนา ให้รีบปล่อยสัตว์น้ำนั้น คืนสู่ท้องทะเลโดยเร็ว
28. แก้ไขเพิ่มเติมการห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง โดยอนุญาตให้มีเครื่องมือโพงพางได้ และยกเลิกข้อยกเว้นตามวรรคสามและวรรคสี่เดิม
29. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ใช้เครี่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนด
30. แก้ไขเพิ่มเติมข้อห้ามการใช้เครื่องมืออวนล้อมจับในเวลากลางคืน
31. แก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่งที่ทับซ้อนกันเพื่อให้มีความชัดเจน
32. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าของเรือประมงไทยที่มีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเมื่อต้องการนำเรือออกจากท่าเพื่อไปทำการประมง ต้องดำเนินการ
33. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัยสุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยลดจำนวนเอกสารลงเหลือเท่าที่จำเป็นและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
34. แก้ไขเพิ่มเติมการมีหนังสือคนประจำเรือของเรือประเภทต่าง ๆ
35. แก้ไขเพิ่มเติมการรับคนประจำเรือหรือลูกเรือจากเรือประมงอื่น และรับฝากคนประจำเรือหรือลูกเรือที่มีใบอนุญาตและหนังสือประจำตัวแล้ว ออกไปกับเรือเพื่อนำส่งให้กับเรือประมงลำอื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วให้สามารถกระทำได้ ในกรณีมีเหตุอันจำเป็น และได้แจ้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกแล้ว
36. แก้ไขเพิ่มเติมการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลไปยังเรือประมงให้สามารถกระทำได้ แต่ต้องจดแจ้งกับศูนย์การแจ้งเรือเข้าออกเรือประมงก่อน
37. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่มีสัญชาติอื่นที่มิใช่สัญชาติไทย และมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องดำเนินการ
38. แก้ไขเพิ่มเติมให้อธิบดีมีอำนาจออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การวางหลักประกัน และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการระบบติดตามเรือได้ปฏิบัติได้ และให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการระบบติดตามเรือต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ระบบติดตามเรือประมงเกิดข้อขัดข้องจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับทางราชการหรือเจ้าของเรือที่ติดตั้งอุปกรณ์
39. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการนำเข้าสัตว์น้ำโดยเรือขนถ่ายสัตว์น้ำหรือเรือประมง โดยต้องดำเนินการตามที่กำหนด
40. แก้ไขเพิ่มเติมการห้ามมิให้ผู้ใดนำเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย ที่มีการทำการประมงโดย
ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องเป็นไปตามรายชื่อที่ประกาศโดยรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
41. แก้ไขเพิ่มเติมให้เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแจ้งข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรือ รายละเอียดของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและวัตถุประสงค์ของการนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมง รวมทั้งกำหนดให้กรณีมีการอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของคนประจำเรือหรือตัวเรือประมง ให้เรือแก้ไขเหตุสุดวิสัยหรือเหตุฉุกเฉินนำเรือออกนอกราชอาณาจักรโดยเร็ว
42. แก้ไขเพิ่มเติมการอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำโดยเรือประมงต่างชาติว่าจะต้องเป็นเรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐเจ้าของธง รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่กำหนด
43. แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำของเรือประมงที่ทำการประมงพื้นบ้านซึ่งรัฐเจ้าของธงที่มีอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรไทยโดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 95 และมาตรา 96 ทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้ ให้มีปริมาณวันละไม่เกินสองร้อยกิโลกรัม
44. กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจในออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข ระเบียบ และข้อปฏิบัติ ตลอดจนมาตรการในการตรวจสอบการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ที่มีการส่งออกสัตว์น้ำของตนมายังประเทศไทย ว่าได้มีการบริหารและจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำมายังประเทศไทยตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการนั้น
45. กำหนดให้รัฐมนตรี มีอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ และให้แต่งตั้งบุคคลจากผู้มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจและมีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
46. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เกิดความชัดเจนและให้ผู้ฝ่าฝืนสามารถวางประกันสัตว์น้ำได้
47. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงหน้าที่และอำนาจของรัฐไทยในฐานะของรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของธง รัฐท่าเรือ และรัฐเจ้าของตลาด ตามอนุสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
48. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติราชการที่กำหนดไว้เฉพาะกรณี และให้อธิบดีจัดทำคู่มือการปฏิบัติราชการเฉพาะกรณีต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดถือและปฏิบัติ
49. กำหนดห้ามมิให้มีการจ่ายเงินรางวัลนำจับตามพระราชกำหนดนี้
50. กำหนดให้อำนาจการฟ้องคดีตามพระราชกำหนดนี้ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดในเขตน่านน้ำไทยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการตามท้องที่ที่มีการฝ่าฝืนพระราชกำหนดนี้ หรือตามที่อัยการสูงสุดกำหนด
51. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 10 มาตรการทางปกครอง เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษอาญาที่ได้กำหนดไว้ในหมวด 11 บทกำหนดโทษ และเพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการผ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบริบทการทำการประมงของไทย
52. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 บทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสมเกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชกำหนดนี้มีประสิทธิภาพ และป้องปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดนี้
53. กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับคำขออนุญาตที่ค้างพิจารณา อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคำขออนุญาตที่ได้ยื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนบรรดาใบอนุญาตที่ออกให้ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 อยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุการอนุญาตหรือใบอนุญาตนี้
54. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้บรรดาคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ศาล คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือคณะกรรมการเปรียบเทียบ แล้วแต่กรณี มีอำนาจพิจารณาดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด
55. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ หากพ้นระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้แล้ว ไม่มีการออกกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งใหม่ขึ้นบังคับใช้ให้กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้น เป็นอันยกเลิก
56. กำหนดบทเฉพาะกาลให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบ ที่ต้องออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และที่ต้องออกตามกฎหมายว่าด้วยการประมงเมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้
57. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้