สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเพื่อเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยเพิ่มมาตรา 206/1 ไว้ในลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา กำหนดให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนารูปใดกระทำชำเราผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเรา และบุคคลที่กระทำชำเราพระภิกษุหรือยินยอมให้พระภิกษุกระทำชำเรา รวมถึงผู้เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการกระทำชำเรากับพระภิกษุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีลักษณะเป็นการมุ่งลงโทษแก่บุคคลซึ่งเป็นพระภิกษุที่ละเมิดการปฏิบัติหน้าที่หรือการครองตนตามหลักการของพระพุทธศาสนา

          ฐานความผิดและองค์ประกอบความผิดร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ร่างมาตรา 206/1) กำหนดฐานความผิดและองค์ประกอบความผิดไว้ดังนี้

          1. ความผิดฐานพระภิกษุกระทำชำเราหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเรา

              มีองค์ประกอบความผิดคือ

              (1) พระภิกษุในพระพุทธศาสนา

              (2) กระทำชำเรา

              (3) ผู้อื่น

              หรือ

              (1) พระภิกษุในพระพุทธศาสนา

              (2) ยินยอม

              (3) ให้ผู้อื่นกระทำชำเรา

          2. ความผิดฐานกระทำชำเราหรือยินยอมให้พระภิกษุกระทำชำเรา

              (1) ผู้ใด

              (2) กระทำชำเรา

              (3) พระภิกษุในพระพุทธศาสนา

              หรือ

              (1) ผู้ใด

              (2) ยินยอม

              (3) ให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนา

          3. ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการกระทำชำเรากับพระภิกษุ

 

          3. ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการกระทำชำเรากับพระภิกษุ

บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายยอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

 

ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแทนการลงโทษก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิดและเด็กผู้ถูกกระทำ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอื่นอันควรเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย

 

ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าการคุ้มครองสวัสดิภาพดังกล่าวไม่สำเร็จ ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงเหตุตามวรรคห้าด้วย

ลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา

ร่างมาตรา 206/1  พระภิกษุในพระพุทธศาสนารูปใดกระทำชำเราผู้อื่น หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีผู้กระทำชำเราพระภิกษุหรือยินยอมให้พระภิกษุกระทำชำเราต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการกระทำชำเรากับพระภิกษุ แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

          บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ในหมวดความผิดเกี่ยวกับเพศ จะมีลักษณะการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ 3 ลักษณะ คือ

          1. การข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276

          2. การกระทำชำเราเด็ก มาตรา 277

          3. การกระทำอนาจาร มาตรา 278 การกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี มาตรา 279

          กล่าวโดยเฉพาะในเรื่องความผิดเกี่ยวกับเพศที่เป็นการกระทำชำเรา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (18) ให้ความหมายของคำว่ากระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

          อย่างไรก็ตามการกระทำชำเราจะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อเด็กซึ่งมิได้เป็นภรยาหรือสามีของตน ตามช่วงอายุดังนี้

          1. กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี

          2. กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี

          ซึ่งเมื่อพิจารณาตามร่างมาตรา 206/1 เป็นการเสนอให้การกระทำชำเรากับพระภิกษุเป็นความผิด หรือพระภิกษุกระทำชำเราบุคคลอื่นไม่ว่าผู้ถูกกระทำชำเรามีอายุเท่าใดเป็นความผิด แต่ควรต้องพิจารณาประกอบด้วยว่า หากมีบทบัญญัติเช่นนี้แล้วมีกรณีพระภิกษุกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีหรือกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติในมาตราใด

          ข้อควรพิจารณา

          บทบัญญัติในลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะในแง่ของศาสนา โดยให้ความคุ้มครองความนับถือในศาสนวัตถุและศาสนสถาน ตลอดจนการประกอบพิธีต่าง ๆ ไม่ให้มีการดูหมิ่น ย่ำยี หรือก่อกวนการประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ หรือลดทอนความศรัทธาของบุคคลที่มีต่อศาสนาไปได้[1]

          ในการตรากฎหมายลักษณอาญาได้บัญญัติคุ้มครองเฉพาะศาสนวัตถุ ศาสนสถาน และศาสนพิธีของทุกศาสนาไว้ในความผิด 2 ฐาน คือ ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา และความผิดฐานก่อให้เกิดการวุ่นวายในที่ประชุมศาสนา ทั้งนี้ชั้นการยกร่างกฎหมายลักษณอาญา คณะกรรมการร่างได้เคยปรึกษาประเด็นเกี่ยวกับพระสงฆ์เสพเมถุนว่าควรมีความผิดและกำหนดโทษทางอาญาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติขณะนั้น
ศาลจะลงโทษจำคุกพระสงฆ์ไม่เกิน 7 ปีและหญิงที่ร่วมเสพเมถุนกับพระสงฆ์ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งคณะกรรมการร่างเสนอว่าควรยกเลิกความผิดนี้ หรือไม่ก็กำหนดโทษให้น้อยลงเพราะการละเมิดหน้าที่ทางศาสนาไม่สมควรกำหนดให้เป็นความผิดอาญา อีกประการหนึ่งถ้าหากสยามจะขอยกเลิกสิทธิสภานอกอาณาเขตกับประเทศมหาอำนาจ บทบัญญัตินี้อาจถูกคัดค้านได้เพราะพระสงฆ์ที่ไม่ได้เป็นคนไทยอาจจะตกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายกว่านักบวชในศาสนาอื่น ซึ่งจะขัดต่อหลักความเสมอภาค และไม่เป็นไปตามแนวทางของประมวลกฎหมายของอารยประเทศ  ต่อมาในการจัดทำประมวลกฎหมายอาญา ก็ยังคงเจตนารมณ์เช่นเดียวกับกฎหมายลักษณอาญา แต่ได้เพิ่มความผิดฐานแต่งการหรือใช้เครื่องหมายเลียยแบบพระหรือนักบวช[2]  โดยไม่ปรากฎเรื่องการเสพเมถุนของพระภิกษุเป็นความผิด

 

[1] คณพล  จันทร์หอม, คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด 1 ,บริษัท สำนักพิมพ์วิญญูชน จำกัด, 2564, หน้า 307

[2] เพิ่งอ้าง,หน้า 310

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  สำนักงานพระพุทธศาสนา
  2.  กรมการศาสนา
  3.  ศาลยุติธรรม
  4.  พนักงานอัยการ
  5.  พนักงานสอบสวน
  6.  พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
  7.  ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. สมควรกำหนดให้การกระทำชำเราของพระภิกษุสงฆ์หรือบุคคลที่กระทำชำเราพระภิกษุสงฆ์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
  2. สมควรกำหนดให้การเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการกระทำชำเรากับพระภิกษุ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
  3. สมควรกำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำชำเราของพระภิกษุสงฆ์ ไว้ในลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนา หรือไม่