โดยที่มาตรา 249 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ และการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวน และความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน ประกอบกับมาตรา 250 วรรคห้า กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และการป้องกันการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย จึงสมควรสนับสนุนให้พื้นที่เทศบาลนครเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ได้มีการพัฒนาที่สอดคล้องและก้าวทันกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อให้สามารถจัดทำบริการและกิจกรรมสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 9 หมวด และบทเฉพาะกาล จำนวน 150 มาตรา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. การจัดตั้งนครสมุย โดยกำหนดให้ยุบเลิกเทศบาลนครเกาะสมุย และจัดตั้งนครสมุยขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยให้นครสมุยมีฐานะเป็นนิติบุคคล (ร่างมาตรา 5) และกำหนดให้เขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
พ.ศ. 2540 มิให้รวมถึงเขตพื้นที่ของนครสมุย (ร่างมาตรา 6)
2. การบริหารนครสมุย
2.1) กำหนดให้การบริหารนครสมุยประกอบด้วย สภานครสมุย นายกนครสมุย และคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย (ร่างมาตรา 7)
2.2) กำหนดให้สภานาครสมุยประกอบด้วยสมาชิกจำนวนยี่สิบสี่คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย (ร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 12) และให้กระทำโดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ (ร่างมาตรา 13)
2.3) กำหนดให้นายกนครสมุยหรือสมาชิกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เมื่อมีกรณ๊จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งนาครสมุย อาจยื่นคำร้องต่อประธานสภานครสมุยขอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ และให้ประธานสภานครสมุยเรียกประชุมสมัยวิสามัญโดยกำหนดวันประชุมภายในเจ็ดวัน
นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง (ร่างมาตรา 34)
2.4) กำหนดให้สภานครสมุยมีอำนาจ ได้แก่ เลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการสามัญของสภานครสมุย เลือกบุคคลผู้เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญของสภานครสมุยเพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานครสมุยแล้วรายงานต่อสภานครสมุย (ร่างมาตรา 42) ตราข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของสมาชิก ข้อบังคับการประชุมเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภานครสมุย รองประธานสภานครสมุย คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการของสภานครสมุย วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างข้อบัญญัติ การเสนอบัญญัติ การปรึกษา การอภิปราย การลงมติ การตั้งและตอบกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นอันเป็นหน้าที่ของสภานครสมุย (ร่างมาตรา 43)
2.5) กำหนดให้นครสมุยมีนายกนครสมุยคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย โดยวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ (ร่างมาตรา 45) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้ และเมื่อดำรงตำแหน่งครบสองวาระแล้วจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกนครสมุยอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนสี่ปีนับแต่วันที่ดำรงตำแหน่งครบสองวาระ (ร่างมาตรา 49)
2.6) กำหนดให้นายกนครสมุยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดนโยบายและจัดทำแผนพัฒนานครสมุยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของนครสมุยให้เป็นไปตามกฎหมาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของนครสมุย แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกนครสมุย เลขานุการนายกนครสมุย เลขานุการรองนายกนครสมุย และที่ปรึกษานายกนครสมุย (ร่างมาตรา 54)
3. ระเบียบบริหารราชการนครสมุย
3.1) กำหนดให้นายกนครสมุยควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของนครสมุยและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานนครสมุยและลูกจ้างนครสมุย (ร่างมาตรา 60) โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นสำนักปลัดนครสมุย และส่วนราชการอื่น ตามที่นายกนครสมุยประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 61)
3.2) กำหนดให้สำนักปลัดนครสมุยมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับราชการทั่วไปของนครสมุยและราชการอื่นที่มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการใดโดยเฉพาะ (ร่างมาตรา 62)
3.3) กำหนดให้การสั่งราชการของนครสมุยโดยปกติกระทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจทำเป็นหนังสือในขณะนั้นจะสั่งราชการด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งนั้นบันทึกคำสั่งด้วยวาจานั้นไว้เป็นหนังสือ และเมื่อได้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งดังกล่าวแล้วให้บันทึกรายงานให้ผู้สั่งราชการทราบโดยทันทีและให้อ้างอิงคำสั่งด้วยวาจานั้นไว้ด้วย (ร่างมาตรา 68)
3.4) กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้นายกนครสมุย รองนายกนครสมุยและพนักงานนครสมุย เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 69)
3.5) กำหนดให้ในการดำเนินการเรื่องใดที่นายกนครสมุยเห็นว่าอาจกระทบถึงประโยชน์สาธารณะสภาพเศรษฐกิจและสังคม หรือความเป็นอยู่โดยส่วนรวมของประชาชน นายกนครสมุยอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตนครสมุยเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการเรื่องนั้นก็ได้ (ร่างมาตรา 70)
4. คณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย
4.1) กำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย ประกอบด้วย กรรมการจำนวนยี่สิบเอ็ดคน ได้แก้ กรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่นครสมุย ด้านการผังเมือง ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการสาธารณสุข
ด้านการศึกษา ด้านการขนส่งคมนาคม และด้านสาธารณูปโภค จำนวนเจ็ดคน กรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้แทนชุมชนที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยว ด้านการค้าและการลงทุน ด้านธุรกิจโรงแรมและการบริการ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตรและด้านแรงงาน จำนวนเจ็ดคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการผังเมือง ด้านการท่องเที่ยว ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านการคมนาคมและขนส่ง หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่นครสมุยจำนวนเจ็ดคน(ร่างมาตรา 72)
4.2) กำหนดให้คณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนานครสมุย เสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของนครสมุย เสนอแนะต่อสภานครสมุยในการจัดทำร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของนครสมุยให้เป็นไปตามแผนพัฒนานครสมุยและรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (ร่างมาตรา 75)
5. หน้าที่และอำนาจของนครสมุย
5.1) กำหนดให้นครสมุยมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ในเขตนครสมุย (ร่างมาตรา 77 ถึงร่างมาตรา 79) และการประกอบกิจการของนครสมุยต้องไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชนเว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค (ร่างมาตรา 80) นอกจากนี้ นครสมุยอาจดำเนินกิจการนอกเขตนครสมุยได้ เมื่อการนั้นจำเป็นต้องทำและเป็นการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่อยู่ภายในเขตนครสมุย หรือเป็นประโยชน์แก่นครสมุย (ร่างมาตรา 83)
5.2) กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของนครสมุยหรือข้อบัญญัติให้นายกนครสมุย รองนายกนครสมุย ปลัดนครสมุย รองปลัดนครสมุย หัวหน้าส่วนราชการของนครสมุยหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า และข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของนครสมุยซึ่งนายกนครสมุยแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 81)
6. ข้อบัญญัตินครสมุย
6.1) กำหนดให้นครสมุยมีอำนาจตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย ในกรณีเช่น เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของนครสมุย เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้นครสมุยมีอำนาจตราข้อบัญญัติได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคลัง การงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้าง และการพัสดุ (ร่างมาตรา 92) โดยร่างข้อบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยนายกนครสมุย สมาชิก คณะกรรมการที่ปรึกษาและพัฒนานโยบายนครสมุย หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนครสมุย ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (ร่างมาตรา 93)
6.2) กำหนดให้ข้อบัญญัตินั้นให้ประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการนครสมุย ถ้าเป็นข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัตินั้น แต่ถ้าเป็นข้อบัญญัติอื่น ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันประกาศ เว้นแต่ข้อบัญญัตินั้นจะกำหนดไว้เป็นประการอื่น แต่ต้องไม่เร็วกว่าวันถัดจากวันประกาศ (ร่างมาตรา 103)
7. การเงิน การคลัง และการงบประมาณ โดยกำหนดให้นครสมุยอาจมีรายรับจากรายได้ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 8 และเงินกู้ (ร่างมาตรา 107) และมีรายจ่าย เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง
เงินค่าตอบแทน และค่าเบี้ยประชุม ค่าจ้าง ค่าใช้สอย ค่าสาธารณูปโภค ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง (ร่างมาตรา 108)
8. รายได้
8.1) กำหนดให้นครสมุยมีรายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยดภาษีบำรุงท้องที่ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ภาษีป้ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย ภาษีการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เป็นต้น (ร่างมาตรา 121)
8.2) กำหนดให้นครสมุยอาจมีรายได้อื่น จากรายได้จาเงินอุดหนุนจากรัฐ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต เบี้ยปรับและค่าปรับ รายได้จากทรัพย์สินของนครสมุย รายได้จากสาธารณูปโภคของนครสมุย เป็นต้น (ร่างมาตรา 130)
9. การกำหนดดูแล
9.1) กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของนครสมุย โดยมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงหรือสั่งให้นายกนครสมุยชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของนครสมุยได้
9.2) กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบความสุจริตและความมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยกรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานละหนึ่งคน ตัวแทนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวนหนึ่งคน ตัวแทนภาคสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งคน และตัวแทนประชาชนภาคสังคมอย่างน้อยจำนวนสามคน มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความสุจริตและความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานครสมุย และผู้บริหารนครสมุย รวมทั้งผู้ได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทน รวมถึงการทดสอบโดยการวางแผนล่อให้กระทำความผิด (ร่างมาตรา 133)
10. บทเฉพากาล เป็นการรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบเทศบาลเกาะสมุยไปสู่สภานครสมุย (ร่างมาตรา 142 ถึงร่างมาตรา 150)