สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะต้องมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองประชาชนในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องจัดประชุมการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ เผยแพร่ข้อมูลนโยบายสาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งจะต้องประกาศการตัดสินใจและผลการแสดงความคิดเห็นของประชาชนให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป อีกทั้งในระหว่างการดำเนินนโยบายสาธารณะจะต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าและเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินนโยบายสาธารณะแล้ว จะต้องจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการและรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ หรือผลกระทบเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของรัฐนั้นเพื่อให้พิจารณาได้ และหากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำร้อง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง มาตรฐานเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนของกฎหมายอื่น กำหนดขอบเขตของนโยบายสาธารณะ เสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และหน่วยงานของรัฐในการตราและปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การให้คำปรึกษา ความเห็น หรือให้ความช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่หน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติตามหลักการที่คณะกรรมการกำหนด รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลการมีส่วนร่วมของประชาชน และสรุปผลการทำหน้าที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบงานด้านธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการหากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการจะต้องเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีมติสั่งการต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐฟ้องบุคคลในคดีหมิ่นประมาทต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกฎหมายฉบับนี้

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  2. ราชการส่วนกลาง
  3. ราชการส่วนภูมิภาค
  4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  5. สถาบันอุดมศึกษา
  6. หน่วยงานของรัฐ
  7. องค์กร/คณะบุคคลที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน/การดำเนินงานนโยบายสาธารณะ
  8. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. การกำหนดความหมายของคำว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน” “นโยบายสาธารณะ” “หน่วยงานของรัฐ” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 3)
  2. การกำหนดให้กฎหมายใดที่บัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การดำเนินการนั้นให้มีมาตรฐานการดำเนินการไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ และหากมาตรฐานต่ำกว่าก็ให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 5) 
  3. การกำหนดขั้นตอนที่หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพในขั้นตอนต่าง ๆ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 7)
  4. การกำหนดให้คณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนกำหนดความถี่ในการจัดประชุมการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 8)
  5. ข้อมูลนโยบายสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 11)
  6. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐประกาศการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ และผลการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยการประกาศจะต้องแสดงถึงเหตุผล ความจำเป็น มาตรการในการป้องกันหรือเยียวยา การแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ความคุ้มค่าของนโยบายสาธารณะ และการเปรียบเทียบทางเลือกที่ตัดสินใจว่าเหมาะสมที่สุดและทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติและดำเนินนโยบายสาธารณะตามที่ได้ประกาศไปแล้ว มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 12, 13)
  7. การกำหนดให้ในระหว่างการดำเนินนโยบายสาธารณะ หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าและเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม อีกทั้งเมื่อดำเนินนโยบายสาธารณะเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการและรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์หรือผลกระทบเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบของรายงาน และอย่างน้อยต้องเผยแพร่ปีละ 1 ครั้ง มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 14)
  8. การกำหนดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งการกำหนดให้คณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนพิจารณาคำร้องกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำร้อง หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการจะต้องเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีมติสั่งการต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 15)
  9. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกช่องทาง รวมถึงการจัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านระบบดิจิทัล มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 16, 17)
  10. การห้ามมิให้ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐฟ้องบุคคลในคดีหมิ่นประมาทต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตามพระราชบัญญัตินี้ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 18)
  11. การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงคุณสมบัติการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 19, 20, 23, 24)
  12. การกำหนดอำนาจหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 21)
  13. การกำหนดให้คณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือให้ส่งเอกสาร หลักฐานใด ๆ รวมทั้งอาจขอตรวจดูเอกสารหลักฐานที่อยู่ในความครอบครอง และตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ รวมถึงการกำหนดอัตราโทษที่เกิดจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 26, 29)
  14. การกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงอำนาจหน้าที่ของสำนักงานมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด (มาตรา 27, 28)
  15. อื่น ๆ (ถ้ามี)