ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
โดยที่พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้มีการตราขึ้นใช้บังคับอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ร้ายแรงของการทำประมงที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจนำไปสู่การถูกขึ้นบัญชีหรือใบเหลืองของสหภาพยุโรป (อียู) หรืออาจจะถูกปรับขึ้นเป็นใบแดง จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและตอบสนองให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่พยายามแก้ไขปัญหา จึงได้ตราเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ทันที อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดดังกล่าวมีบทบัญญัติบางมาตราที่อาจจะขัดต่อหลักการของอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก หรือหลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชน การเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาค และบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีบทกำหนดโทษที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำซ้อน และไม่ได้สัดส่วนกับการลงโทษในความผิดทั่วไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมการทำประมงให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการจัดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบและพิจารณาลงโทษ และคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในการพิจารณาออกคำสั่งตามระดับความรุนแรงของการกระทำความผิด สภาพการกระทำผิด และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนกำหนดโทษทางปกครองและโทษทางอาญาที่เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและป้องกันการกระทำความผิด
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กระทรวงมหาดไทย
- ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- กองทัพเรือ
- คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด
- สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
- สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
- สมาคมเรือประมงพาณิชย์
- ชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ สหกรณ์หรือสมาคม หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการประมง
- ประชาชนทั่วไป
ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมกิจการประมงและจัดระเบียบการประมงในประเทศไทยและรองรับการจัดระเบียบการประมงทะเลในน่านน้ำอื่นภายใต้กติการะหว่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจตนา รวมถึงการเพิ่มบทนิยามคำว่า “ทะเลหลวง” “ประมงพื้นบ้าน” “ประมงพาณิชย์” “ประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก” และยกเลิกนิยามคำว่า “โรงงาน” (ร่างมาตรา 3 ถึง ร่างมาตรา 8)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงแห่งชาติ และคณะกรรมการประมงจังหวัด (ร่างมาตรา 13 ถึง ร่างมาตรา 17)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะทำการประมงพื้นบ้านตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 18 ถึง ร่างมาตรา 19)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง รวมทั้งการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาต (ร่างมาตรา 20)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติม การดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากลักษณะของเครื่องมือที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ให้สามารถกระทำได้หากได้จดแจ้งกับกรมประมง (ร่างมาตรา 23)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย โดยแยกผู้ขอรับใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่ทั้งในเขตของรัฐชายฝั่งอื่นและทะเลหลวง (ร่างมาตรา 25)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามจับสัตว์น้ำหรือครอบครองสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และการห้ามมิให้ล่าสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ตามที่รัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 28 และร่างมาตรา 30)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมการห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน (ร่างมาตรา 32)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าของเรือประมงไทย เมื่อต้องการนำเรือออกจากท่าเพื่อไปทำการประมง (ร่างมาตรา 33)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลไปยังเรือประมง (ร่างมาตรา 36 ถึง ร่างมาตรา 38)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เกิดความชัดเจน และต้องคำนึงถึงหน้าที่และอำนาจของรัฐไทยในฐานะของรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของ รัฐท่าเรือ และรัฐเจ้าของตลาด รวมถึงต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติราชการที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 48 ถึง ร่างมาตรา 50)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามมิให้มีการจ่ายเงินรางวัลนำจับตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (ร่างมาตรา 51)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 10 มาตรการทางปกครอง เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกำหนดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้โทษทางอาญาที่ได้กำหนดไว้ในหมวด 11 บทกำหนดโทษ และเพื่อกำหนดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและบริบทการทำการประมงของไทย (ร่างมาตรา 53)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 บทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสมเกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และป้องปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด (ร่างมาตรา 54)
- ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทเฉพาะกาลให้บรรดาที่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาล คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาล คณะกรรมการมาตรการทางปกครอง หรือคณะกรรมการเปรียบเทียบ มีอำนาจพิจารณาดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น (ร่างมาตรา 55 และ 56)