กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มีสรรพคุณในทางยาและทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์และส่งเสริมให้เป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สมควรกำหนดให้มีการอนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่กระจายในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวและส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้านจึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อส่งเสริมทางด้านการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สร้างรายได้แก่ประชาชน และเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนมิให้มีการนำกัญชา กัญชง ไปใช้ในทางที่ผิด อันอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริโภคได้ โดยการกำหนดมาตรการกำกับดูแล ตรวจสอบ ควบคุม และอนุญาตการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง และการใช้กัญชา กัญชง รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายกัญชา กัญชงแห่งชาติขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย
สาระสำคัญ
1) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายกัญชา กัญชงแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือแผนงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง ในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนการทดลองหรือวิจัยเกี่ยวกับกัญชา กัญชง (ร่างมาตรา 6 – ร่างมาตรา 12)
2) กำหนดมาตรการควบคุมและใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง เช่น การขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง การกำหนดหลักเกณฑ์การจดแจ้งและการรับจดแจ้ง การใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานของรัฐและสภากาชาดไทย การปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน การปลูกกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต ตลอดจนหลักเกณฑ์การพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต (ร่างมาตรา 13 - ร่างมาตรา 21)
3) กำหนดไม่ให้มีการบริโภคกัญชา กัญชง เว้นแต่เป็นกรณีการบริโภคเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ การบริโภคเพื่อการศึกษาวิจัย หรือที่เป็นการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเพื่อรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว (ร่างมาตรา 22)
4) กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาต และการอนุญาตโฆษณา เกี่ยวกับกัญชา กัญชง (ร่างมาตรา 23 - ร่างมาตรา 24)
5) กำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่และอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้าหรือส่งออกกัญชา กัญชง รวมถึงยานพาหนะที่บรรทุกกัญชา กัญชง เพื่อตรวจสอบ ยึดหรืออายัดซึ่งกัญชา กัญชง ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการควบคุมเท่าที่จำเป็น (ร่างมาตรา 25 -ร่างมาตรา 27)
6) กำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง บริโภค หรือโฆษณาซึ่งกัญชา กัญชง โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้จดแจ้ง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขตามที่กำหนดและกำหนดให้บรรดาความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวสามารถให้ผู้อนุญาตหรือผู้ซึ่งผู้อนุญาตมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ (ร่างมาตรา 28 - ร่างมาตรา 35)
7) กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องต่าง ๆ และรองรับสิทธิของบุคคลที่ได้รับมาโดยผลของกฎหมายเดิม เช่น รองรับกฎหมายลำดับรอง รองรับคำร้องหรือคำขอที่ได้ยื่นไว้ตามกฎหมายเดิม การรับรองใบอนุญาตที่ออกให้ตามกฎหมายฉบับเดิม เป็นต้น (ร่างมาตรา 36 - ร่างมาตรา 39 )