โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การวิจัยและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดโรค รักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือการพัฒนานวัตกรรม ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตน และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง มาใช้ในการศึกษาวิจัย การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้มีการบริโภคกัญชา กัญชงอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแล ควบคุมการขาย การโฆษณาและการบริโภคกัญชา กัญชง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....ซึ่งเสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล สมาชิกสาภ(แทนราษฎร กับคณะ มีสาระสำคัญดังนี้
(1) กำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับกัญชา กัญชง (ร่างมาตรา 6)
(2) กำหนดให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนและสาธารณสุขโดยใช้กัญชา กัญชง เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำเร็จของผู้ผลิตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ร่างมาตรา 7)
(3) กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกัญชา กัญชง” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 8)
(4) กำหนดให้คณะกรรมการกัญชา กัญชง มีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง ทั้งในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม ให้ความเห็น คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรี หรือผู้อนุญาตในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และประการกำหนดสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinal) ในกัญชง เป็นต้น (ร่างมาตรา 14)
(5) กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขายต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต (ร่างมาตรา 15)
(6) กำหนดให้ผู้ประสงค์จะเพาะ ปลูก ต้องจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะดำเนินการได้ (ร่างมาตรา 18)
(7) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณาอนุญาต (ร่างมาตรา 21)
(8) กำหนดให้เงินค่าธรรมเนียมตาม (8) (9) (10) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้ที่จัดเก็บได้ให้ตกเป็นของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ร่างมาตรา 23)
(9) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตว่ากล่าวตักเตือน หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตตามสมควรแก่กรณี (ร่างมาตรา 25)
(10) กำหนดให้ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกไม่ได้ (ร่างมาตรา 26)
(11) กำหนดให้ผู้จดแจ้งผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้รับจดแจ้งว่ากล่าวตักเตือน หรือเพิกถอนใบรับจดแจ้งตามสมควรแก่กรณี (ร่างมาตรา 27)
(12) กำหนดห้ามผู้ใดโฆษณาเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต (ร่างมาตรา 28)
(13) กำหนดให้ในกรณีฝ่าฝืน ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้โฆษณาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แก้ไขข้อความ ห้ามใช้ข้อความ ระงับการโฆษณา เป็นต้น (ร่างมาตรา 29)
(14) กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ เช่น เข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้าสถานที่ส่งออก สถานที่ขาย หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกกัญชา กัญชง เป็นต้น (ร่างมาตรา 31)
(15) กำหนดให้ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 32)
(16) กำหนดให้กรณีผู้อนุญาตหรือผู้รับจดแจ้งไม่ออกใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง ผู้ขออนุญาตหรือผู้จดแจ้ง มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง (ร่างมาตรา 34)
(17) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้งมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบรับจดแจ้ง แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 35)
(18) กำหนดห้ามผู้รับอนุญาตขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภคแก่บุคคล เช่น ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เป็นต้น (ร่างมาตรา 37)
(19) กำหนดให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 38)
(20) กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 37 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท (ร่างมาตรา 40)