สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยประชาชน เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,419 คน
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดความสามารถในการประกอบอาชีพของภาคประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่ และจำกัดความสามารถในการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และเป็นการส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและส่งเสริมภาคประชาชนให้ประกอบกิจการสถานีวิทยุท้องถิ่นชุมชนได้อย่างเสรีและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประเด็นประกอบการพิจารณา

          1) มีการกำหนดบทนิยาม ความหมายของคำว่า “วิทยุกระจายเสียง” ใหม่ เนื่องจากคำนิยามดังกล่าว ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มิได้สอดคล้องกับความหมายตามบทบัญญัติมาตรา 60 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ แต่บัญญัติไว้ให้เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาใช้บังคับซึ่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุคมนาคมเป็นคนละประเภท

          2) มีการกำหนดแยกประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

                    - เพื่อความมั่นคง

                    - เพื่อสาธารณะประโยชน์

                    - เพื่อบริการชุมชน

                    - เพื่อเสริมสร้างอาชีพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          3) มีการกำหนดให้การอนุญาตใช้คลื่นความถี่กิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นการประกอบธุรกิจ ให้แยกใบอนุญาตออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

                    - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชาติ ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าพันวัตต์

                    - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาค ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินสามพันวัตต์

                    - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับจังหวัด ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินหนึ่งพันวัตต์

                    - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับ ชุมชน หรือชุมชนท้องถิ่น ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าร้อยวัตต์

                    และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจดังกล่าว (มาตรา 41/5)

          4) มีการกำหนดการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช ประกาศกำหนด แต่ถ้าเป็นการประกอบกิจการธุรกิจ ตามมาตรา 41/5 ให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม

          5) มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละประเภท (มาตรา 41/1 – มาตรา 41/4) ให้ชำระเป็นรายปีให้เหมาะสมกับประเภทใบอนุญาตแต่มิให้เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากยอดสรุปบัญชีประจำปีและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ให้ชำระเป็นรายปี ตามร่างมาตรา 6

          6) มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและบทลงโทษของใบอนุญาตและผู้ได้รับใบอนุญาต

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  2. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
  3. สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. สมาคมสื่อช่อสะอาด
  5. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับนิยาม คำว่า “วิทยุกระจายเสียง” (ร่างมาตรา 3)
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแบ่งประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมที่มีลักษณะประเภททั่วไปกับประเภทธุรกิจ (ร่างมาตรา 5)
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ โดยให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขของใบอนุญาตและบทลงโทษของผู้ได้รับใบอนุญาต