สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

  1. กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศ โดยรัฐจะต้องจัดให้มีนโยบายในระดับชาติเกี่ยวกับการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน มีการสั่งการและปรับปรุงระบบการบริหารราชการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความสำคัญสาเหตุพื้นฐานที่ก่อให้เกิดมลพิษแต่ละประเภท ให้การสนับสนุนการบูรณาการการปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยการอำนวยความสะดวกสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ และจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ พัฒนาระบบการติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเตือนภัยแก่ประชาชนที่มีมาตรฐานสากล รวมถึงให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใดที่ซ้ำซ้อนเป็นอุปสรรค เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อความเสมอภาคของประชาชน
  2. กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เรียกว่า คณะกรรมการอากาศสะอาด ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบาย กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่ออากาศสะอาดให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อีกทั้งกำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการด้านชำนาญการหรือคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีการกำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด โดยเฉพาะการจัดให้มี "คณะกรรมการอากาศสะอาด" ดังกล่าวร่างพระราชบัญญัติได้กำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจหลายประการ เช่น การกำหนดนโยบาย การจัดทำแผนการจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ การพิจารณาเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพอากาศ การเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนระบบการจัดการสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล ระบบการติดตามเฝ้าระวัง ระบบการประมวลผล ระบบการเตือนภัย และโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและข้อมูลสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพอากาศ รวมถึงจัดให้มีกลไกและมาตรการสนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการจัดการสภาพแวดล้อม รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการพัฒนาคุณภาพอากาศ
  3. มีการกำหนดภาระหน้าที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และพัฒนาระบบปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์เพื่อการติดตาม การประมวลผลการวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพอากาศตามมาตรฐานสากลจากแหล่งมลพิษทางอากาศชนิดต่างๆ การจัดทำระบบฐานข้อมูลดิจิทัลกลาง ที่สามารถเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลที่สามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา รวมทั้งการจัดทำขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติจากแหล่งมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องที่ต่างๆ ในรูปแบบของข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการติดตามคุณภาพอากาศ และจัดทำรายงานสถานการณ์ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติที่เกิดจากแหล่งมลพิษต่างๆ  ในท้องที่เสนอต่อคณะกรรมการอากาศสะอาด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ
  4. กำหนดแหล่งมลพิษทางอากาศในระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอ ศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย การควบคุมมลพิษจากแหล่งต่างๆ กรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดเกิดมลภาวะทางอากาศถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน  หรือส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการมลพิษ มีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็นเขตมลพิษทางอากาศ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ สั่งการใดๆ เพื่อลดและขจัดมลพิษทางอากาศมิให้เกิดมลภาวะต่อไป
  5. กำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมลพิษ หรือหน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ เข้าไปในอาคาร หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
  6. มีการกำหนดโทษทางอาญาของผู้ฝ่าฝืนร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดมิให้ความร่วมมือหรือฝ่าฝืนตามร่างพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. สำนักนายกรัฐมนตรี
  2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. กระทรวงคมนาคม
  4. กระทรวงอุตสาหกรรม                 
  5. กระทรวงการคลัง
  6. สำนักงบประมาณ
  7. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  8. กรมควบคุมมลพิษ
  9. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. สมควรกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้มีอากาศสะอาดเพื่อประชาชน โดยจัดให้มีนโยบายระดับชาติ และให้หน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่างๆ สนับสนุนและบูรณาการในการจัดทำระบบให้มีมาตรฐานสากลเพื่อมีอากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือไม่
  2. สมควรกำหนดให้สิทธิของบุคคลได้รับอากาศที่สะอาด โดยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิที่จะรวมตัวเป็นองค์กร คณะบุคคล เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการของรัฐ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ หรือไม่
  3. สมควรกำหนดให้มีคณะกรรมการอากาศสะอาด ดำเนินการเสนอนโยบายและแผน กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดเขตควบคุมมลพิษทางอากาศ กำหนดมาตรฐานการควบคุมมลพิษ ตลอดจนเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้มีชั้นบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือไม่
  4. สมควรกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานของรัฐที่พัฒนาระบบปฏิบัติการและฐานข้อมูลในรูปแบบข้อมูลข่าวสารสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อติดตามคุณภาพอากาศและพัฒนาระบบปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ เพื่อการติดตาม การประมวลผล การวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพอากาศตามมาตรฐานสากลจากแหล่งมลพิษทางอากาศชนิดต่างๆ
  5. สมควรกำหนดให้คณะกรรมการมลพิษทางอากาศมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ท้องที่ที่เกิดมลภาวะซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นท้องที่เขตมลพิษทางอากาศ หรือไม่
  6. สมควรกำหนดกำหนดให้เจ้าพนักงานเพื่ออากาศสะอาดมีอำนาจออกคำสั่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมลพิษ หรือหน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ เข้าไปในอาคาร หรือสถานที่ใดๆเพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่
  7. สมควรกำหนดให้มีโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่