โดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดขั้นตอนกระบวนการในการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดให้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเป็นคณะกรรมการในระดับนโยบาย ทำให้กระบวนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมีความล่าช้าไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที สมควรลดขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด และเนื่องจากการออกคำสั่งในการแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน อันอาจทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากความล่าช้าของกระบวนการดังกล่าว สมควรแก้ไขอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้
1. ยกเลิกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการให้ความเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (ร่างมาตรา 3)
2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมมลพิษโดยตัดปลัดกรุงเทพมหานครออก
และเพิ่มจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นไม่เกินหกคน (ร่างมาตรา 4)
3. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดตามมาตรา 55 โดยกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษในการประกาศกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดในราชกิจจานุเบกษา โดยต้องแจ้งไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทราบก่อนการส่งเรื่องไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกำหนดให้ต้องมีการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดทุกสี่ปี เว้นมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอาจดำเนินการเร็วกว่ากำหนดได้ (ร่างมาตรา 5)
4. แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้กรณีที่มีการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่น แต่มาตรฐานนั้นไม่ต่ำกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตรามาตรา 55 ก็ให้มาตรฐานนั้นมีผลใช้บังคับต่อไป แต่ถ้ามาตรฐานนั้นต่ำกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 55 ให้ส่วนราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายนั้น แก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดทุกกรณี โดยไม่ให้อำนาจแก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้ชี้ขาดกรณีที่ไม่อาจดำเนินการและแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดตามมาตรา 55 อีกต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขในมาตรา 55 และการยกเลิกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการให้ความเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (ร่างมาตรา 6)
5. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ผู้ควบคุม หรือผู้ได้รับในอนุญาตรับจ้างให้บริการระบบบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียจัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสีย หรืออุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียหรือมลพิษอื่น และการออกคำสั่งเป็นหนังสือสั่งปรับเจ้าของหรือผู้ครอบครองแห่งกำเนิดมลพิษ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษทั้งในกรณีโรงงานอุตสาหกรรมและมิใช่โรงงานอุตสาหกรรม (ร่างมาตรา 7)