โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และร่วมรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรอง เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 ถือเป็นพันธะของรัฐบาลที่จะต้องให้การส่งเสริม คุ้มครอง และปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ในประเทศของตน
กลุ่มประชากรชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เป็นชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบอุษาคเนย์มายาวนาน มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์เฉพาะแตกต่างกันไป กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ กลุ่มประชากรเหล่านี้มีองค์ความรู้และภูมิปัญญา รวมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนาและสืบทอดวิถีชีวิต อัตลักษณ์และระบบแบบแผนภูมิปัญญาของตนเอง แต่กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ด้อยหรือขาดโอกาสจากกระบวนการพัฒนาของรัฐ ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในการดำรงวิถีชีวิต ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงเกิดการรวมตัวกันของชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาและกำหนดวิถีชีวิตตนเอง จึงเห็นพ้องกันว่าจักต้องมีกลไกในการส่งเสริม ประสานงาน และแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างทั่วถึงทุกด้านและสนองตอบต่อวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ทั้งยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 43 และมาตรา 70 แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จึงมีความจำเป็นต้องต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
เลือกกันเองภายในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาแล้ว จำนวนกลุ่มละไม่เกิน 5 คน การเลือกกันเองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภากำหนด โดยต้องมีสัดส่วนหญิง ชาย และตัวแทนเยาวชนที่เป็นธรรมในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน (ร่างมาตรา 6)
2.1 มีสัญชาติไทย หรือเป็นบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย
2.2 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
2.3 เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย
2.4 มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2.5 มีความเสียสละและให้เวลาร่วมกิจการสภาได้
2.6 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
2.7 ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือนักบวช
(ร่างมาตรา 7)
ประกาศรายชื่อสมาชิกในราชกิจจานุเบกษา และอาจได้รับการคัดเลือกใหม่ได้
สมาชิกซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกใหม่จะเข้ารับหน้าที่
(ร่างมาตรา 8)
4.1 พ้นตามวาระ
4.2 ตาย
4.3 ลาออก
4.4 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7
4.5 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของ
จำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะเหตุมีความประพฤติในทางเสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือประพฤติผิดศีลธรรมและจริยธรรมของการเป็นสมาชิก
4.6 ถูกถอดถอนโดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่คัดเลือกกันเองตามที่กำหนดในหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกและถอดถอนสมาชิกของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
เมื่อบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามวรรคหนึ่ง ให้กลุ่มชาติพันธุ์นั้นทำการคัดเลือกบุคคลอื่นเป็นสมาชิกแทนตำแหน่งที่ว่างภายในระยะเวลาสามสิบวัน นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
สมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาแทนให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกที่ตนแทน
แต่ถ้าเวลาเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวันไม่ต้องดำเนินการเพื่อหาสมาชิกใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง
(ร่างมาตรา 9)
5.1 ประสานงานกับชุมชนและเครือข่ายในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง หรือสภาชนเผ่าพื้นเมืองใน
ระดับพื้นที่ รวมทั้งเป็นตัวแทนของสภาในการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับบุคคล องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
5.2 จัดทำและปรับปรุงข้อมูลสมาชิกองค์กรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยให้เป็นปัจจุบัน
5.3 ร่วมศึกษาสภาพปัญหา รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ภูมิปัญญาและปฏิบัติการที่ดีและจัดทำข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริหารสภาและที่ประชุมสภา
5.4 ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ภูมิปัญญา และปฏิบัติการที่ดีของชนเผ่าพื้นเมืองให้เครือข่ายในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง สภาชนเผ่าพื้นเมืองในระดับพื้นที่ ภาครัฐ และสาธารณชน
5.5 สนับสนุน ติดตาม และผลักดันให้ภารกิจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
5.6 เข้าร่วมกิจกรรมของสภาทุกระดับและร่วมประชุมสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
(ร่างมาตรา 10)
6. การกำหนดหน้าที่และอำนาจของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ดังนี้
6.1 ประสานงาน แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของสภาชนเผ่าพื้นเมือง
6.2 ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6.3 คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความขัดแย้งและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
6.4 อนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟู อัตลักษณ์ ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร พันธุ์พืช พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่ทำมาหากินตามจารีตประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง
6.5 ศึกษา ติดตาม และประเมินผลกระทบของนโยบาย หรือกิจการหรือโครงการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อจัดทำรายงานและข้อเสนอในประเด็นของชนเผ่าพื้นเมืองต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
6.6 คุ้มครองและส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพตามจารีตประเพณีที่สมดุลและยั่งยืน
6.7 เป็นกลไกในการแสวงหาความร่วมมือในการพิทักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ รวมทั้ง ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมวิถีชีวิตและพัฒนาศักยภาพชนเผ่าพื้นเมืองให้กับรัฐและภาคีที่เกี่ยวข้อง
6.8 สนับสนุน ส่งเสริม วิจัย พัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของแกนนำ องค์กร ชุมชน และเครือข่ายของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสตรีและเยาวชนเผ่าพื้นเมือง
6.9 พัฒนาระบบฐานข้อมูล รวบรวม วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ สภาพปัญหาและความต้องการของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย สำหรับนำไปใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ และแก้ไขปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองประสบอยู่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชนโดยใช้ระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันและการสื่อสารที่หลากหลาย
6.10 พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ และงบประมาณของสภาได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
6.11 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสถานศึกษา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง
6.12 แต่งตั้งคณะผู้อาวุโสสภา คณะที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเห็นชอบ
6.13 ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับตามพระราชบัญญัติ
6.14 หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
(ร่างมาตรา 11)
7. การกำหนดโครงสร้างการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ดังนี้
ให้สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการบริหารสภา จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานสภาหนึ่งคน รองประธานสภาตามจำนวนภาค เลขานุการสภาหนึ่งคน และกรรมการบริหารสภา
เมื่อมีการประชุมสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก ให้สมาชิกที่มีอายุสูงสุดหรือสมาชิกที่มีอายุสูงลำดับถัดมาเมื่อสมาชิกผู้มีอายุสูงสุดสละสิทธิ์ ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เพื่อให้ที่ประชุมสภาคัดเลือกประธานสภาเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกประธานสภา และให้ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานสภาทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมต่อไป
ในการประชุมคราวแรก ให้ประธานสภาเสนอชื่อบุคคลให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาหนึ่งคนเพื่อให้ที่ประชุมสภารับรอง และทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีการสรรหาและได้เลขาธิการสำนักงานสภามาทำหน้าที่ต่อไป
ให้สมาชิกจากแต่ละภูมิภาคเสนอรายชื่อตัวแทนในภูมิภาคของตนเองที่ได้รับการคัดสรรที่เป็นไปตามฉันทามติในภาคนั้น โดยเป็นชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคนเพื่อให้ที่ประชุมสภาเลือกและรับรองเป็นรองประธานสภา และกรรมการบริหารสภา และให้ดำเนินการสรรหากรรมการที่เหลือ เพื่อเป็นคณะกรรมการบริหารสภาในคราวเดียวกัน โดยคณะกรรมการบริหารสภามีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่ตนเป็นสมาชิก ในการเสนอและสรรหาประธานสภา รองประธานสภา เลขานุการสภา และคณะกรรมการบริหารสภา ให้คำนึงถึงความเหมาะสม ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ การมีสัดส่วนหญิง ชาย และเยาวชน และการกระจายตามภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกันตามหลักเกณฑ์การสรรหาคณะกรรมการบริหารสภาฯ ยกเว้นตำแหน่งเลขานุการที่เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง
ผู้แทนของกลุ่มชาติพันธุ์ใดจะเป็นคณะกรรมการเกินกว่าหนึ่งตำแหน่งไม่ได้
(ร่างมาตรา 12)
8. การกำหนดให้คณะกรรมการมีการประชุมตามภารกิจอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง ประธานสภาเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ ทั้งนี้องค์ประชุม และการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ใช้หลักการฉันทามติหรือรูปแบบอื่น ๆ ตามที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาเห็นสมควร (ร่างมาตรา 15)
9. การกำหนดให้ประธานสภามีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
9.1 ดำเนินการประชุมและมีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ตามความจำเป็นในการประชุมสภาและคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภา
9.2 เป็นผู้แทนสภาในการติดต่อประสานงานในนามของสภากับบุคคลและหน่วยงานภายนอก
9.3 ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสภา
(ร่างมาตรา 16)
10. การกำหนดให้รองประธานสภามีหน้าที่และอำนาจแทนประธานสภาในกรณีที่ประธานสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งนี้ให้รองประธานสภาตามลำดับความอาวุโสเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา หรือปฏิบัติการตามที่ประธานสภามอบหมาย (ร่างมาตรา 17)
11. การกำหนดให้เลขานุการสภามีหน้าที่และอำนาจจัดเตรียมการประชุม จัดทำรายงานการประชุม ติดต่อประสานงาน และรับผิดชอบงานธุรการของสภา (ร่างมาตรา 18)
12. การกำหนดให้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการประชุมสภาครั้งแรก ให้เป็นไปตามมาตรา 12
ให้มีการประชุมสภาสมัยสามัญปีละสองครั้ง
คณะกรรมการอาจมีมติให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการปรึกษาหารือเป็นการเร่งด่วน
คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อสมาชิกเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ขอให้มีการประชุมสภา
(ร่างมาตรา 19)
13. การกำหนดให้การประชุมสภา ต้องกระทำโดยเปิดเผยและต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้ประธานสภาเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสภาไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาตามลำดับอาวุโสหนึ่งคนเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภา
การลงมติ ให้ถือหลักฉันทามติ ยกเว้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน แผนงาน โครงการ หรือเรื่องอื่นใดที่มีลักษณะเป็นงานประจำ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ โดยสมาชิกหนึ่งคนให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน และในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
ในการพิจารณาว่าเรื่องใดยกเว้นไม่ต้องใช้หลักฉันทามติ ให้ประธานนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกับคณะผู้อาวุโสเพื่อหาข้อยุติ ความเห็นของคณะผู้อาวุโสถือเป็นที่สุด
(ร่างมาตรา 20)
14. การกำหนดให้สภาชนเผ่าพื้นเมือง คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่สภาแต่งตั้งสามารถเชิญข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือให้จัดส่งเอกสาร หรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร ให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือแก่สภาชนเผ่าพื้นเมือง คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแต่งตั้ง (ร่างมาตรา 21)
15. การกำหนดให้สมาชิก คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะผู้อาวุโส และคณะทำงานที่สภาแต่งตั้งได้รับเบี้ยประชุมและให้มีสิทธิ์เบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง (ร่างมาตรา 22)
16. การกำหนดให้คณะกรรมการบริหารสภา หรือสำนักงานสภา อาจพิจารณาเชิญผู้อาวุโสที่เป็นผู้ทรงภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง นักพัฒนา หรือนักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จำนวน 15 คน เสนอให้ที่ประชุมสภารับรองเป็นคณะผู้อาวุโสของสภา
การได้มาซึ่งคณะผู้อาวุโสให้คำนึงถึงสัดส่วน เพศ ความเชี่ยวชาญ การกระจายไปตามกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาคอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการยอมรับตามระบบจารีตประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์หรือภูมิภาคนั้น ๆ และให้ดำรงตำแหน่งตามวาระของสมาชิกสภาฯ สมัยนั้น
(ร่างมาตรา 24)
17. การกำหนดให้ผู้อาวุโส มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
17.1 เป็นผู้รู้ ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง หรือปราชญ์ชาวบ้าน
17.2 มีความประพฤติดี เป็นแบบอย่างและได้รับการยอมรับจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง
17.3 มีความเสียสละ และมีจิตอาสา
17.4 เป็นชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
(ร่างมาตรา 25)
18. การกำหนดให้คณะผู้อาวุโส มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
18.1 ให้คำปรึกษาหารือ ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่สมาชิกสภา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และสำนักงานสภา ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
18.2 ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแผนงานและแผนงบประมาณของสภา
18.3 ไกล่เกลี่ยกรณีที่เกิดข้อพิพาทหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่สามารถหาข้อยุติตามที่สมาชิกคณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาร้องขอ
18.4 เข้าร่วมประชุมสภา การประชุมกรรมการบริหารสภา และการประชุมสำนักงานสภาตามที่ร้องขอ
18.5 กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาหรือคณะกรรมการ และรายงานต่อคณะกรรมการหรือที่ประชุมสภา
(ร่างมาตรา 26)
19. การกำหนดให้สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
19.1 จัดทำแผนงาน โครงการตามมติของสภา เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการและเสนอต่อสภา ตามมาตรา 11
19.2 อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกสภา คณะกรรมการบริหารสภา คณะผู้อาวุโส และรับผิดชอบในงานธุรการและการดำเนินจัดประชุมของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
19.3 จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของสภา เพื่อเสนอต่อสมาชิกสภา คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
19.4 ประสานงาน ให้ความร่วมมือ และบริการทางวิชาการให้แก่สภาและภาคีที่เกี่ยวข้อง
19.5 ประชาสัมพันธ์และเอื้ออำนวยกระบวนการขึ้นทะเบียนและจัดทำคู่มือหลักเกณฑ์การสรรหาสมาชิกตามที่ได้รับมอบหมายจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
19.6 จัดให้มีฐานข้อมูลประชากรชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับกลุ่มชาติพันธุ์และในภาพรวม
19.7 ปฏิบัติการอื่นใดตามที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยมอบหมาย
(ร่างมาตรา 28)
20. การกำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงาน เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงาน และมีอำนาจกำหนดระเบียบที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการสำนักงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการให้เลขาธิการสำนักงานเป็นเลขานุการสภาโดยตำแหน่ง คุณสมบัติ การสรรหา และการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานสภา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภากำหนด (ร่างมาตรา 29)
21. การกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล
เพื่อส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
21.1 คุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูอัตลักษณ์ ภาษา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชนเผ่าพื้นเมือง
21.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัย และจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำ ชุมชน องค์กร และเครือข่ายของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
21.3 คุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนเรื่องอาชีพ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมตนเอง
21.4 ส่งเสริมและสนับสนุนการขจัดการเลือกปฏิบัติ การจัดการความขัดแย้ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวัฒนธรรม
21.5 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 11
กองทุน ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อสมทบกองทุนโดยไม่มีเงื่อนไข
2) ดอกผลหรือรายอื่น
3) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน
(ร่างมาตรา 30)
22. การกำหนดให้คณะกรรมการกองทุน ประกอบด้วย กรรมการสภาที่คัดเลือกกันเองจำนวน 7 คน ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน ผู้แทนสำนักงบประมาณ จำนวน 1 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการกองทุนและด้านชนเผ่าพื้นเมืองด้านละ 1 คน
การแต่งตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการกองทุน ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยกำหนด
(ร่างมาตรา 31)
23. การกำหนดให้การดำเนินด้านการเงินของสภา ให้อยู่ภายใต้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
เงินและทรัพย์สินตามมาตรา 30 วรรคสอง ให้ส่งเข้ากองทุน
(ร่างมาตรา 32)
24. การกำหนดให้บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนได้มาตามมาตรา 30 วรรคสอง โดยมีผู้บริจาคให้หรือได้มาโดยการซื้อด้วยเงินรายได้ของกองทุน หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของกองทุน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกองทุน (ร่างมาตรา 33)
25. การกำหนดให้จัดทำงบดุล รายงานการเงินของกองทุนที่ผู้ตรวสอบบัญชีรับรองแล้วเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสภาและที่ประชุมสภา (ร่างมาตรา 34)
26. การกำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรกให้สำนักงานเลขาธิการสภาที่มีอยู่ ดำเนินการเลือกสมาชิกสภาภายใน 90 วัน และให้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมถึงดำเนินการรวบรวมจัดทำทะเบียนประชากรชนเผ่าพื้นเมือง (ร่างมาตรา 35)
27. การกำหนดบทเฉพาะกาล โครงสร้างและการบริหารจัดการสภา อาจมีการแก้ไขและปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงของสมาชิกในภูมิภาค โดยให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภา (ร่างมาตรา 36)