โดยที่กฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดสิทธิในการทำประมง อาทิ จำกัดการทำประมงพื้นบ้านให้อยู่เฉพาะในเขตทะเลชายฝั่ง กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตที่ไม่เอื้อต่อการทำประมง จำกัดการใช้เครื่องมือในการทำประมงในเวลากลางคืน กำหนดให้การขนถ่ายสัตว์นำในทะเลทำได้เฉพาะเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่จดทะเบียนเท่านั้น นอกจากนี้ บทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดยังคงมีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการลงมติในเรื่องต่าง ๆ หรือเรื่องอำนาจคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในกรณีผุ้ทำการประมงฝ่าฝืนกำหมายอย่างร้ายแรง รวมถึงการบริหารจัดการทำประมง การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง ตลอดจนมาตราการคุ้มครองแรงงาน ยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน อีกทั้งบทกำหนดโทษที่ใช้บังคับอยู่มุ่งพิจารณาเฉพาะขนาดของเรือประมงเป็นสำคัญ แต่มิได้คำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้
(1) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ประมงพื้นบ้าน” และ “ประมงพาณิชย์ขนาดเล็ก”
(ร่างมาตรา 3 และร่างมาตรา 4)
(2) แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (ร่างมาตรา 5)
(3) แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยให้นายอำเภอในเขตท้องที่ที่มีการประมงเลือกตัวแทนเป็นกรมการ โดยในจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับชายั่งทะเลและแม่น้ำโขงกำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และกำหนดสิทธิในการลงมติของนายอำเภอเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับท้องที่อำเภอของตน (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 8)
(4) ยกเลิกการห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในทะเลนอกชายฝั่ง (ร่างมาตรา 9)
(5) แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านและการประมงพาณิชย์ (ร่างมาตรา 10)
(6) แก้ไขเพิ่มเติมการห้ามผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่งทะเลในเวลากลางคืน (ร่างมาตรา 11)
(7) แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าของเรือที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยประเภทการใช้ทำการประมงซึ่งมีขนาดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยให้ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือประมง และดูแลรักษาอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ (ร่างมาตรา 12)
(8) แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นในการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเล โดยเพิ่มการขนถ่านสัตว์น้ำในทะเลไปยังเรือประมงตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 13)
(9) แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการมาตรการทางปกครองในกรณีผู้ทำการประมงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างรุนแรง (ร่างมาตรา 14)
(10) แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นการทำประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง (ร่างมาตรา 15)
(11) แก้ไขเพิ่มเติมโทษกรณีผู้ประกอบกิจการดรงงานฝ่าฝืนมาตรา 11 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง โดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน (ร่างมาตรา 16)
(12) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษปรับของผู้ฝ่าฝืนมาตรา 38 มาตรา 43 หรือมาตรา 52 โดยให้พิจารณาถึงความร้ายแรงของพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมและขนาดเรือประมง รวมถึงให้พิจารณาจากเจตนากระทำความผิด (ร่างมาตรา 17)
(13) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษของผู้ฝ่าฝืนมาตรา 42 (ร่างมาตรา 18)
(14) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษของผู้ฝ่าฝืนมาตรา 81 (1) หรือมาตรา 88 (1) หรือ (7) และกำหนดให้ผู้สั่งลงโทษใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งกรณีด้วย (ร่างมาตรา 19)
(15) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษของผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 81 (2) หรือ (3) มาตรา 82 หรือมาตรา 88 (2) (3) หรือ (4) หรือทำรายงานอันเป็นเท็จ หรือไม่นำเรือกลับเข้าท่าเทียบเรือประมงตามมาตรา 81 (5) หรือมาตรา 88 (6) และกำหนดให้ผู้สั่งลงโทษใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษโดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งกรณีด้วย (ร่างมาตรา 20)
(16) แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน กรณีเจ้าของเรือประมงใช้คนประจำเรือที่ไม่มีหนังสือคนประจำเรือหรือไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 83 หรือฝื่นมาตรา 83/1 (ร่างมาตรา 21)
(17) แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้สนับสนุนหรือได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำการดังกล่าวเป็นคนประจำเรือไม่ต้องรับผิด (ร่างมาตรา 22)
(18) แก้ไขเพิ่มเติมการริบทรัพย์สินที่ใช้ในการทำประมง หรือที่ได้มาโดยการทำประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงตามมาตรา 114 โดยตัดเรือประมงออกจากประเภทของทรัพย์สินที่ให้ริบ (ร่างมาตรา 23)
หน่วยงานของรัฐ
1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. กระทรวงการต่างประเทศ
3. กระทรวงคมนาคม
4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. กระทรวงแรงงาน
6. กองทัพเรือ
7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8. กรมการปกครอง
9. สภาเกษตรกรแห่งชาติ
ภาคเอกชน
1. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
2. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ภาคประชาสังคม
1. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
2. สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
3. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
4. สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย
5. สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
6. สมาคมกุ้งไทย
7. สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย