สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษา กำหนดให้จัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อจัดการศึกษาอบรมวิชาชีพ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพ ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับปริญญาสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ร่วมส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูงที่มีความชำนาญในการปฏิบัติส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม เพื่อให้การจัดอาชีวศึกษาและการพัฒนากำลังคนของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศ สมควรส่งเสริมให้สถาบันการอาชีวศึกษามีระบบบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระทางวิชาการ บริหารงานทั่วไป บริหารงานบุคคล งบประมาณ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีองค์ความรู้ทางวิชาการในแขนงต่าง ๆ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและทักษะชั้นสูงในการประกอบอาชีพ สามารถตอบสนองความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง และส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญามีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวมได้ อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ   

สาระสำคัญ

  • กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้มีความชัดเจนมากขึ้น ให้สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของสถาบันตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และให้มีคณะกรรมการข้าราชการครู คณาจารย์และบุคลากรการอาชีวศึกษาเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรการอาชีวศึกษา
  • กำหนดให้การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพต้องเป็นการจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพ

ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิค ระดับเทคโนโลยี นวัตกรรมและวิจัย รวมทั้งเป็นการยกระดับการศึกษาด้านทักษะวิชาชีพให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพให้จัดได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาระบบทวิภาคี

  • กำหนดให้สามารถรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันได้ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคำนึงถึงการประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
  • กำหนดให้สถาบันอาชีวศึกษาเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการทางงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
  • กำหนดให้สถาบันอาจแบ่งส่วนราชการได้ดังนี้ สำนักงานอธิการบดี คณะ วิทยาลัย สำนัก ศูนย์

ตลอดจนกำหนดให้สถาบันอาจมีรายได้ เช่น เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับและค่าบริการต่าง ๆ ของสถาบัน เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่สถาบัน รายได้ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนและจากทรัพย์สินของสถาบัน รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งสถาบันปกครอง ดูแลหรือใช้ประโยชน์ เงินอุดหนุนจากราชการส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศหรือเงินอุดหนุนอื่นที่สถาบันได้รับเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของสถาบัน เป็นต้น

  • กำหนดให้การจัดสรรทรัพยากรในการจัดการศึกษาของสถาบัน การทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ งบบุคลากรซึ่งเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ของบุคลากรในสถาบัน งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น งบลงทุนและงบอุดหนุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันและการผลิตกำลังคน การจัดสรรเงินเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบัน
  • กำหนดให้มีคณะกรรมการสภาสถาบันในสถาบันแต่ละแห่งจำนวนไม่เกินยี่สิบเก้าคนประกอบด้วย นายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่งได้แก่ อธิการบดี กรรมการสภาสถาบันซึ่งเลือกจากผู้แทนครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาอื่น และผู้บริหารสถาบันจำนวนหกคน กรรมการสภาสถาบันจำนวนหกคน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบห้าคน
  • กำหนดให้สภาวิชาการมีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เช่น เสนอแนะการวางนโยบายและแผนพัฒนาทางวิชาการต่อสภาสถาบัน เสนอความเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์มาตฐานการจัดการอาชีวศึกษา การเรียน การสอนการประเมินผลการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการกำกับมาตรฐานการจัดการศึกษาการควบคุมคุณภาพ การติดตามตรวจสอบและประเมินผลงานด้านวิชาการของสถาบัน เป็นต้น
  • กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษาของชาติ ให้สำนักงานคณะกรรมการ

การอาชีวศึกษาและสถาบันดำเนินการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาของสถานศึกษาเอกชน ให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการอาชีวศึกษา

  • กำหนดให้สามารถจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันกับสถานประกอบการให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสถาบันกับสถานประกอบการได้
  • กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

เรียกว่า “กองทุนเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษา การพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษา

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงศึกษาธิการ
  2. สำนักงบประมาณ
  3. สถาบันการอาชีวศึกษา
  4. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ สภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของสถาบันตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และให้มีคณะกรรมการข้าราชการครู คณาจารย์และบุคลากรการอาชีวศึกษาเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรการอาชีวศึกษา
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพต้องเป็นการจัดการศึกษาในด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ สถาบันอาชีวศึกษาเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการทางงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ การจัดสรรทรัพยากรในการจัดการศึกษาของสถาบัน การทำคำขอ และการจัดสรรงบประมาณ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ งบบุคลากรซึ่งเป็นเงินเดือน ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ของบุคลากรในสถาบัน งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น งบลงทุนและงบอุดหนุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันและการผลิตกำลังคน การจัดสรรเงินเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบัน
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาสถาบันในสถาบันแต่ละแห่งจำนวนไม่เกินยี่สิบเก้าคนประกอบด้วย นายกสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่งได้แก่ อธิการบดี กรรมการสภาสถาบันซึ่งเลือกจากผู้แทนครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาอื่น และผู้บริหารสถาบันจำนวนหกคน กรรมการสภาสถาบันจำนวนหกคน กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบห้าคน
  6.  ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ สภาวิชาการมีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เช่น เสนอแนะการวางนโยบายและแผนพัฒนาทางวิชาการต่อสภาสถาบัน เสนอความเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์มาตฐานการจัดการอาชีวศึกษา การเรียน การสอน การประเมินผลการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการกำกับมาตรฐานการจัดการศึกษา การควบคุมคุณภาพ การติดตามตรวจสอบและประเมินผลงานด้านวิชาการของสถาบัน เป็นต้น
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนามาตรฐานการอาชีวศึกษาของชาติ ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถาบันดำเนินการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาของสถานศึกษาเอกชน ให้สามารถจัดการอาชีวศึกษาสอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการอาชีวศึกษา
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สามารถจัดการศึกษาระบบทวิภาคีที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันกับสถานประกอบการให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างสถาบันกับสถานประกอบการได้
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “กองทุนเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ”มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษา การพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษา
  10. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)