สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติกีฬามวย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายบุญลือ ประเสริฐโสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน จึงมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกีฬามวย
ให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับกีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ และมีรูปแบบการจัดการแข่งขันที่หลากหลายมากขึ้นจึงสมควรขยายความคุ้มครองการแข่งขันกีฬามวยให้ครอบคลุมกีฬามวยรูปแบบอื่นที่ใช้กฎกติกามวยไทยเป็นส่วนประกอบและคุ้มครองนักมวยที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีให้ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

สาระสำคัญ

         แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ดังต่อไปนี้

         1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามดังนี้  (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3)

              “กีฬามวย” หมายความว่า การแข่งขันชกมวยตามกฎและกติกาของมวยไทยหรือมวยสากล และให้หมายความรวมถึงมวยรูปแบบอื่นที่ใช้กฎและกติกามวยไทยหรือมวยสากลเป็นส่วนประกอบด้วย

              “สนามมวย” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือบริเวณอื่นใด สำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬามวยเป็นปกติ ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬามวยโดยมีการถ่ายทอดทางดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วย

         2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกีฬามวย โดยแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการกีฬามวย (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5) ได้แก่

              (1) แก้ไขโดยระบุตำแหน่งจาก “ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เป็น “ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เนื่องจากในฐานะเป็นผู้บริหาร ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง

              (2) การเพิ่มผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเพิ่มบทบาทในการเผยแพร่มวยไทยในต่างประเทศและเป็นกระทรวงที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการชกมวยในต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาชกมวยในประเทศไทย เช่น การออกหนังสือเดินทางให้แก่นักมวยไทยไปชกมวยในต่างประเทศและการอำนวยความสะดวกให้แก่นักมวยชาวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาชกมวยในเมืองไทย

              (3) การเพิ่มผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อการส่งเสริมและการอนุรักษ์ศิลปะมวยไทยและการขึ้นบัญชีภูมิปัญญามรดกมวยไทย

              (4) การเพิ่มผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนและบรรจุมวยไทยในหลักสูตรการศึกษา

              (5) เพิ่มผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้เกิดประสิทธิภาพ

              (6) เพิ่มอธิบดีกรมพลศึกษาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เพื่อการส่งเสริมการศึกษากีฬามวย การพัฒนาหลักสูตรการศึกษากีฬามวย และการพัฒนาสถาบันมวยไทยแห่งชาติ

              (7) เพิ่มนายกสมาคมกีฬามวยตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เนื่องจากสมาคมกีฬามวยมีความเกี่ยวข้องกับกีฬามวยโดยตรง ได้แก่ (1) สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย (2) สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และ (3) สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

         3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การส่งเสริมสวัสดิการครอบคลุมถึงบุคคลในวงการกีฬามวย เพราะได้มีส่วนในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่วงการมวยเช่นกัน (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 วรรคหนึ่ง)

         4. กำหนดระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยที่นักมวยมีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ โดยจะต้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยและมีความเหมาะสมในการจัดการแข่งขันเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บและเกิดความปลอดภัยแก่เด็กจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณากำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักมวยเด็ก เปลี่ยนแปลงระเบียบ กฎ กติกา อุปกรณ์การป้องกัน และจดทะเบียนรับรองในรูปแบบสากลให้เป็นที่ยอมรับ โดยควรมีคู่มือการฝึกซ้อมสำหรับมวยเด็ก ผู้ฝึกสอนต้องมีความรู้ ความเข้าใจในทักษะการกีฬา และกติกาการแข่งขันกีฬามวยเด็กต้องมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ (ร่างมาตรา 9 เพิ่มมาตรา 16 วรรคสอง)

         5. แก้ไขเพิ่มเติมให้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นหน่วยธุรการโดยกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทหน้าที่ทางธุรการของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (ร่างมาตรา 10แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)

         6. กำหนดให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลในวงการกีฬามวยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและควบคุมกีฬามวย รวมถึงการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่กีฬามวยด้านอื่น ๆ (ร่างมาตรา 11 เพิ่มมาตรา 20 วรรคสาม)

         7. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬามวยของนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้เฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัย มีกติกามาตรฐานการแข่งขันที่เหมาะสม และการคำนึงถึงอันตรายที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในระยะยาว โดยกำหนดให้คำนึงถึงความสำคัญในการกำหนดระเบียบ กฎ กติกา และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการแข่งขันกีฬามวยของนักมวยเด็กโดยเฉพาะ โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพร่างกาย และพัฒนาการของนักมวยเด็กในระยะยาว (ร่างมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 วรรคสอง)

         8. แก้ไขเพิ่มเติมการจดทะเบียนและคุณสมบัตินักมวย (ร่างมาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29) ดังนี้

            (1) เพิ่มเติมความเป็นมาตรา 29 (4) กรณี “ไม่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเว้นแต่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนและเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี” ซึ่งควรมีกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อเป็นการลงโทษนักมวยที่มีการถูกเพิกถอนทะเบียน และสามารถมีสิทธิกลับมาจดทะเบียนเป็นนักมวยได้ ซึ่งไม่ควรกำหนดระยะเวลาในการถูกเพิกถอนนานจนเกินไป ดังนั้น จึงควรกำหนดให้มีการล่วงเลยระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีเท่านั้น

            (2) การเพิ่มเติมมาตรา 29 (5) มีความว่า “มีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด” เป็นไปเพื่อให้ครอบคลุมตามกฎเกณฑ์ และระเบียบอื่นที่คณะกรรมการกำหนด

            (3) โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้ามาสู่ระบบการจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการป้องกัน คุ้มครองนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั้งนี้ การจดทะเบียนต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจดทะเบียน และมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมไว้เป็นความในมาตรา 29 วรรคสอง

            (4) ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 29 วรรคสาม เนื่องจากต้องให้เกิดความชัดเจนและครอบคลุมยิ่งขึ้นว่า กรณีผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดค่ายมวยเดิม ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมในการเข้าแข่งขันกีฬามวยในการชกแต่ละครั้งอีก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนย้าย หรือเปลี่ยนสังกัดค่ายมวยของผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว เพราะหากเป็นประเด็นเกี่ยวกับการโอนย้าย หรือเปลี่ยนสังกัด ค่ายมวยของผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนักมวย ซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้น

         9. แก้ไขเพิ่มเติมการจัดทำทะเบียนนักมวยซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากในปัจจุบันวงการมวยมีนักมวยชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมการแข่งขัน หรือเข้ามาเรียนรู้มวยไทยจำนวนมาก แต่ยังขาดการจัดระเบียบในการเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแล กำกับ ติดตาม นักมวยต่างชาติ ต้องมีการจัดทำทะเบียนนักมวยต่างชาติ โดยให้มีสมุดบันทึกประจำตัวนักมวยต่างชาติ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลนักมวย ประวัติ สถิติการชก แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่านักมวยต่างชาติจะต้องได้รับสวัสดิการจากรัฐ เพราะตามระเบียบจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น (ร่างมาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32)

       10. ยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้จดทะเบียนเป็นนักมวยด้านศิลปะมวยไทยจะเข้าแข่งขันกีฬามวยด้านมวยสากลไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเป็นนักมวยสากลด้วย การยกเลิกหลักเกณฑ์การจดทะเบียนให้นักมวยซึ่งจดทะเบียนในประเภทใดสามารถเข้าแข่งขันกีฬามวยได้ในประเภทนั้น เนื่องจากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 เรื่องการจดทะเบียนนักมวย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธินักมวยและส่งเสริมกีฬามวย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นการปิดกั้นหรือจำกัดสิทธินักมวย หากนักมวยจดทะเบียนนักมวยประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว ให้สามารถเข้าแข่งขันกีฬามวยได้ทุกประเภท (ร่างมาตรา 16 ยกเลิกมาตรา 33)

       11. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ตัดสินต้องขอรับใบอนุญาต โดยกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพผู้ตัดสินให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากผู้ตัดสินเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญ และมีผลทำให้วงการมวยเป็นที่น่าเชื่อถือ ผู้ตัดสินจึงควรถูกให้ดำเนินการเข้าระบบ ในลักษณะการขอใบอนุญาตแทนการจดทะเบียน (ร่างมาตรา 17 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 และมาตรา 35)

       12. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในการปลอมปนใด ๆ ให้ครอบคลุมถึงการนำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีอื่นใดด้วย อันเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่สุขภาพหรือทำให้นักมวยเสื่อมถอยกำลังที่จะชกมวยได้ (ร่างมาตรา 23 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.  สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย
  2.  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  3.  กระทรวงการต่างประเทศ
  4.  กระทรวงวัฒนธรรม
  5.  กระทรวงศึกษาธิการ
  6.  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  7.  กรมพลศึกษา
  8.  มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
  9.  สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย
  10.  สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย
  11.  สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
  12.  ประชาชนทั่วไป      

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “กีฬามวย” และ “สนามมวย” (ร่างมาตรา 3)

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะกรรมการกีฬามวย
(ร่างมาตรา 4) ดังนี้

            2.1 แก้ไขจาก “ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เป็น “ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” 

            2.2 เพิ่มผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

            2.3 เพิ่มผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม

            2.4 เพิ่มผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ

            2.5 เพิ่มผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

            2.6 เพิ่มผู้แทนอธิบดีกรมพลศึกษาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ

            2.7 เพิ่มผู้แทนนายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีการส่งเสริมสวัสดิการครอบคลุมบุคคลในวงการกีฬามวย (ร่างมาตรา 8)

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยที่นักมวยมีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ โดยจะต้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยและมีความเหมาะสมในการจัดการแข่งขันเป็นการเฉพาะ (ร่างมาตรา 9)

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่ทางธุรการของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (ร่างมาตรา 10)

6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลในวงการกีฬามวยให้เป็นปัจจุบัน (ร่างมาตรา 11)

7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬามวยของนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้เฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัย มีกติกามาตรฐานการแข่งขันที่เหมาะสม และการคำนึงถึงอันตรายที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของนักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในระยะยาว (ร่างมาตรา 12)

8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมการจดทะเบียนและคุณสมบัตินักมวย (ร่างมาตรา 13) ดังนี้

            (1) เพิ่มเติมความเป็นมาตรา 29 (4) “ไม่เคยถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเว้นแต่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนและเวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี”

            (2) การเพิ่มเติมมาตรา 29 (5) “มีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด”

            (3) การจดทะเบียนต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจดทะเบียน และมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 วรรคสอง) 

            (4) การกำหนดให้ผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้วต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมในการทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการเข้าแข่งขันกีฬามวย เว้นแต่กรณีการเข้าแข่งขันกีฬามวยในสังกัดค่ายมวยที่ได้รับความยินยอมแล้ว ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 วรรคสาม)

9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนนักมวยซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ร่างมาตรา 15)

10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกีฬามวย
พ.ศ. 2542 เพื่อให้นักมวยที่จดทะเบียนนักมวยประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว สามารถเข้าแข่งขันกีฬามวยได้ทุกประเภทได้ (ร่างมาตรา 16)

11. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้ตัดสินต้องขอรับใบอนุญาต (ร่างมาตรา 17)

12. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในการปลอมปน
ใด ๆ ให้ครอบคลุมถึงการนำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีอื่นใดด้วย อันเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่สุขภาพหรือทำให้นักมวยเสื่อมถอยกำลังที่จะชกมวยได้ (ร่างมาตรา 23)

13. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)