สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ในกรณีบุคคลผู้ไม่ได้กระทำผิดซึ่งถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือกรณีบุคคลควรได้รับโทษ
น้อยกว่าที่ศาลได้มีคำพิพากษา ได้พบพยานหลักฐานใหม่ซึ่งสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในภายหลัง สามารถยื่นคำร้องต่อศาลหรืออัยการสูงสุดเพื่อขอให้นำคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และให้พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นคำร้องได้ ในกรณีอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องก็ให้ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องและดำเนินการรื้อฟื้นคดีตามกฎหมายทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐานใหม่เป็นประโยชน์และสร้างความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

          1) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2525 มาตรา 5 (3) กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่ไม่เคยปรากฏในการพิจารณาของศาลมาก่อน
ถ้าได้นำมาสืบในการพิจารณาของศาลจะก่อให้เกิดความสงสัยตามสมควรว่าผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษอาจไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือควรรับโทษน้อยกว่าที่ศาลได้มีคำพิพากษา อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ (ร่างมาตรา 3)

          2) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (5)ให้พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ (ร่างมาตรา 4)

          3) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 8
ให้สามารถยื่นคําร้องขอต่ออัยการสูงสุด ให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ (ร่างมาตรา 5)

          4) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 ในกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด (ร่างมาตรา 6)

          5) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 18 กรณีผู้ต้องรับโทษอาญาสามารถยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อปรากฏพยานหลักฐานใหม่ (ร่างมาตรา 7)

          6) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้  (ร่างมาตรา 8)

      

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1.   กระทรวงยุติธรรม
  2.   กระทรวงกลาโหม
  3.   ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
  4.   สำนักงานศาลยุติธรรม
  5.   สำนักงานอัยการสูงสุด
  6.   สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  7.   กรมพระธรรมนูญ
  8.   สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่พ.ศ. 2526มาตรา 5 (3) กรณีมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญแก่คดีที่ไม่เคยปรากฏในการพิจารณาของศาลมาก่อน ถ้าได้นำมาสืบในการพิจารณาของศาลจะก่อให้เกิดความสงสัยตามสมควรว่าผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ อาจไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดหรือควรรับโทษน้อยกว่าที่ศาลได้มีคำพิพากษา จึงควรให้มีการร้องขอเพื่อรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (5) เพื่อให้พนักงานอัยการมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 8 ที่ให้สามารถยื่นคําร้องขอต่ออัยการสูงสุดเพื่อรื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 ในกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป และคำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 18 เพื่อให้ผู้ต้องรับโทษอาญาสามารถยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏพยานหลักฐานใหม่
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้