เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีอาญา เนื่องจากพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2449 ยังไม่มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา และถูกคุมขังโดยที่พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง นอกจากนั้น หลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทนที่กำหนดให้จ่าย เฉพาะจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องและวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในการจ่ายเงินทดแทนแก่บุคคลผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับและคุมขังทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมาก ซึ่งรัฐควรมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม จึงได้ตราพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาขึ้น ร่างพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. บทนิยาม
1) ผู้เสียหาย หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และให้หมายรวมถึงบุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือตายเนื่องจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุหรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่
2) ผู้ต้องหา หมายความว่า บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
3) จำเลย หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญา
4) ค่าตอบแทน หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับ เพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหรือเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น
5) ค่าทดแทน หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิได้รับเนื่องจากการถูกดำเนินคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดี และปรากฏว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
6) สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา
และจำเลยในคดีอาญา
7) คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา
8) กรรมการ หมายความว่า กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา
9) พนักงานอัยการ หมายความว่า พนักงานอัยการตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการหรืออัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
10) พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
11) รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
2. หมวด 1 บททั่วไป
กำหนดให้การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น
3. หมวด 2 คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา
1) กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา" (มาตรา 9)
2) กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นเลขานุการ และให้ประธานกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน (มาตรา 9)
4. หมวด 3 สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาให้สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 18)
1) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้
2) รับคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ
3) ประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่นหรือบุคคลใด ๆ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงหรือ ความเห็นเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย
4) เก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย
5) กระทำกิจการตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
5 หมวด 4 การจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
หลักการกำหนดค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 20 ได้แก่
1) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ
2) ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวนไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง
3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายด้วย (มาตรา 21)
6. หมวด 5 การจ่ายค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา
ผู้ต้องหาและจำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ และถูกควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนหรือถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี รวมถึงอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง หรือมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าไม่สมควรจ่าย เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งในคดีที่มีผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายคน ผู้ต้องหาหรือจำเลยคนใดถึงแก่ความตายก่อนพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และคณะกรรมการเห็นสมควรจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นเหตุลักษณะคดีให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถึงแก่ความตายนั้น มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย (มาตรา 23)
7. หมวด 6 การยื่นคำขอ การพิจารณาคำขอ และการอุทธรณ์
กำหนดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการณ สำนักงาน ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด หรือวันที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือวันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ ยกฟ้องแล้วแต่กรณี (มาตรา 25)
8. หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสอบปากคำผู้ยื่นคำขอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคำขอ และมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณา (มาตรา 29)
9. หมวด 8 บทกำหนดโทษ
1. ผู้ใดยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 31)
2. ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทนค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 32)
3. ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งหนังสือตอบหนังสือสอบถาม เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล หรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 33)