1. มีการกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อความสะอาดของอากาศโดยรัฐจะต้องจัดให้มีนโยบายการจัดการให้มีระบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพในระดับชาติ มีการสั่งการและปรับปรุงระบบการบริหารราชการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการบูรณาการการปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนด้วยการอำนวยความสะดวกสนับสนุนข้อมูลต่างๆ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ และจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ อีกทั้งเสนอให้มีกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการจัดการคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว
2. มีการจัดตั้งคณะกรรมการในรูปแบบต่างๆเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่ออากาศสะอาด โดยกำหนดให้คณะกรรมการอากาศสะอาดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการหรือคณะอนุกรรมการ คณะกรรมการมลพิษทางอากาศ มีการกำหนดให้คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด โดยเฉพาะการจัดให้มี "คณะกรรมการอากาศสะอาด" ดังกล่าวร่างพระราชบัญญัติได้กำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจหลายประการ เช่น การกำหนดนโยบาย การจัดทำแผนการจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ การพิจารณาเห็นชอบยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาคุณภาพอากาศ การเสนอแนะการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนระบบการจัดการสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล ระบบการติดตามเฝ้าระวัง ระบบการประมวลผล ระบบการเตือนภัย และโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศและข้อมูลสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพอากาศ รวมถึงจัดให้มีกลไกและมาตรการสนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่การดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการจัดการสภาพแวดล้อม รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการพัฒนาคุณภาพอากาศ เป็นต้น
3. มีการกำหนดภาระหน้าที่ให้กับส่วนราชการในการขับเคลื่อนภารกิจตามร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนที่ทางภูมิศาสตร์แสดงจุดที่มีนัยสำคัญต่อคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และพัฒนาระบบปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์เพื่อการติดตาม การประมวลผลการวิเคราะห์สถานการณ์คุณภาพอากาศตามมาตรฐานสากลจากแหล่งมลพิษทางอากาศชนิดต่างๆ การจัดทำระบบฐานข้อมูลดิจิทัลกลางที่สามารถเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลที่สามารถรายงานผลได้ทันทีและตลอดเวลา รวมทั้งการจัดทำขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติจากแหล่งมลพิษที่เกิดขึ้นในท้องที่ต่างๆ ในรูปแบบของข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการติดตามคุณภาพอากาศ และจัดทำรายงานสถานการณ์ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในระดับวิกฤติที่เกิดจากแหล่งมลพิษต่างๆ ในท้องที่เสนอต่อคณะกรรมการอากาศสะอาด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ
4. มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ประเภทของแหล่งมลพิษ โดยให้คณะกรรมการมลพิษจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และจัดให้มีระบบการติดตามตรวจสอบมลพิษอย่างต่อเนื่อง เมื่อเขตพื้นที่ใดเป็นแหล่งมลพิษทางอากาศให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษให้ดำเนินการ
5. เจ้าพนักงานอากาศสะอาด มีอำนาจในการออกหนังสือเรียกบุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา หรือมีอำนาจเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ไดๆ เพื่อตรวจสอบ ควบคุม หรือสั่งให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ
6. มีการกำหนดโทษทางอาญาของผู้ฝ่าฝืนร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดมิให้ความร่วมมือหรือฝ่าฝืนตามร่างพระราชบัญญัตินี้