สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายบัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

            เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการและบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขจำนวนหลายแสนคน
ทั้งสายงานวิชาชีพ สายงานสนับสนุน สายงานวิชาการ สายงานบริหารต่างๆ นับร้อยสายงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง มีความเสมอภาค แก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ลักษณะการทำงาน บางสายงานทำงานในเวลาราชการ หลายสายงานจัดเวรทำงานเป็นกะปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลรักษาทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาล และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยนอกโรงพยาบาล ตลอดจนควบคุมโรคติดต่อแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวตามด่านตรวจคนเข้าเมืองและสถานที่กักกันโรค นอกจากนี้ ผลจากโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเนื่องจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม และเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคโควิด-19 ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษา วิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ถูกต้อง ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีลักษณะงานที่จำเพาะเจาะจงหลากหลายสายงานจึงต้องทำงานร่วมกันโดยอาศัยทักษะฝีมือความชำนาญเฉพาะที่แตกต่างจากข้าราชการและบุคลากรกระทรวงอื่น ๆ และยังต้องมีความคล่องตัวในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานให้ทันต่อเหตุการณ์ ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเนื่องจากมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อชีวิตและร่างกายของมนุษย์ อันควรจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การจัดโครงสร้างและจัดอัตรากำลังข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุขขึ้นปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องจัดให้ครบทีม
โดยมีตำแหน่งแต่ละสายงานที่เหมาะสมเพียงพอ มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน เพื่อจะได้ดูแลผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บและประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และได้รับความพึงพอใจ การบริหารงานข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุขในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับงานบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขเพื่อบริหารจัดการกำลังคนด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศขึ้นมาโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สาระสำคัญ

  1. กำหนดนิยาม “ข้าราชการสาธารณสุข” และ “บุคลากรสาธารณสุข” (ร่างมาตรา 4)
  2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้(ร่างมาตรา 6)
  3. กำหนดคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (ร่างมาตรา 9)
  4. กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.)และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.สธ. (ร่างมาตรา 17 และมาตรา 21)
  5. กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข(สำนักงาน ก.สธ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน (ร่างมาตรา 27)
  6. ให้มีการจัดระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขโดยคำนึงถึงระบบคุณธรรม(ร่างมาตรา 28)
  7. กำหนดตำแหน่งข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข ระดับฐานะวิชาชีพ ระดับตำแหน่ง และการได้รับเงินเดือน เงินฐานะวิชาชีพ และเงินประจำตำแหน่ง (ร่างมาตรา 30 ถึงมาตรา 42)
  8. กำหนดวิธีการสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้งข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขตามระบบคุณธรรม เหมาะสมกับโครงสร้างของส่วนราชการและลักษณะงานในกระทรวงสาธารณสุข (ร่างมาตรา 43 ถึงมาตรา 62)
  9. กำหนดให้ส่วนราชการมีหน้าที่สร้างขวัญกำลังใจ การเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการแก่ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.สธ. กำหนด (ร่างมาตรา 63 ถึงมาตรา 76)      
  10. กำหนดวินัยและการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข(ร่างมาตรา 77 ถึงมาตรา 102)
  11. กำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการออกจากราชการ และการให้รับราชการต่อไปเมื่ออายุครบหกสิบปีของข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (ร่างมาตรา 103 ถึงมาตรา 109)
  12. กำหนดให้ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษหรือคำสั่งให้ออกจากราชการต่อ กจ.สธ. และขั้นตอนการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 110 ถึงมาตรา 121)
  13. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบจริยธรรมข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (กจ.สธ.) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ของ กจ.สธ. (ร่างมาตรา 122 ถึงมาตรา 132)   
  14. กำหนดให้ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขต้องรักษาจริยธรรม(ร่างมาตรา 133 ถึงมาตรา 134)
  15. กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกที่ยังไม่มี ก.สธ. อ.ก.สธ.วิสามัญ หรืออนุกรรมการใน อ.ก.สธ.กรม ให้ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข และ อ.ก.พ.กรม ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก.สธ. หรือจนกว่าจะได้แต่งตั้ง อ.ก.สธ.วิสามัญ หรืออนุกรรมการใน อ.ก.สธ.กรม (ร่างมาตรา 135)
  16. กำหนดให้ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ กจ.สธ. ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กจ.สธ. (ร่างมาตรา 136)
  17. กำหนดให้ผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อยู่ในวันก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นข้าราชการสาธารณสุข (ร่างมาตรา 137)
  18. กำหนดให้นำพระราชกฤษฎีกา กฎ ก.พ. ข้อบังคับ หรือระเบียบหรือกรณีที่กำหนดไว้แล้วซึ่งใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกา หรือออกกฎ ก.สธ. ข้อบังคับ หรือระเบียบ หรือกำหนดกรณีใดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้เป็นไปตามที่ ก.สธ.กำหนด (ร่างมาตรา 138 ถึงร่างมาตรา 139)
  19. กำหนดให้การปรับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง การกำหนดเงินฐานะวิชาชีพของข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก.สธ. (ร่างมาตรา 140)
  20. กำหนดให้ ก.สธ. นำบัญชีเงินเดือนข้าราชการวิชาชีพด้านกฎหมายหรือข้าราชการวิชาชีพด้านอื่นมาปรับเทียบไปพลางก่อน (ร่างมาตรา 141)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัด ได้แก่

1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

3) อธิบดี และเลขาธิการ (ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข)

4) ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข

2. สำนักนายกรัฐมนตรี

1) สำนักงบประมาณ

2) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

3. องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) สภาวิชาชีพแพทย์

2) สภาวิชาชีพพยาบาล

3) สภาวิชาชีพทันตแพทย์

4) สภาวิชาชีพเภสัชกร

5) สภาวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

6) สภาวิชาชีพกายภาพบำบัด

7) สภาวิชาชีพรังสีเทคนิค

8) สภาวิชาชีพแพทย์แผนไทย

9) สภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (ก.สธ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.สธ.

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (สำนักงาน ก.สธ.) และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน

4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีการจัดระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขโดยคำนึงถึงระบบคุณธรรม

5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดตำแหน่งข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข ระดับฐานะวิชาชีพ ระดับตำแหน่ง และการได้รับเงินเดือน เงินฐานะวิชาชีพ และเงินประจำตำแหน่ง

6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดวิธีการสรรหา การบรรจุ และการแต่งตั้งข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขตามระบบคุณธรรม เหมาะสมกับโครงสร้างของส่วนราชการและลักษณะงานในกระทรวงสาธารณสุข

7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดวินัยและการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข

8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบจริยธรรมข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข (กจ.สธ.) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง
การพ้นจากตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ของ กจ.สธ.

9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขต้องรักษาจริยธรรม

10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การปรับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง
การกำหนดเงินฐานะวิชาชีพของข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก.สธ.

11. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ ก.สธ. นำบัญชีเงินเดือนข้าราชการวิชาชีพด้านกฎหมายหรือข้าราชการวิชาชีพด้านอื่นมาปรับเทียบไปพลางก่อน

12. ท่านมีความคิดเห็นในประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ อย่างไร