สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารได้โดยสะดวก ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล มีส่วนร่วมในการรับทราบและตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ โดยมีการใช้ระบบปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

1. บทนิยาม

           กำหนดนิยามคำว่า "ข้อมูลข่าวสาร" "ข้อมูลข่าวสารของราชการ" "ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ" "หน่วยงานของรัฐ" "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" "เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ" "ข้อมูลส่วนบุคคล" และ "ดิจิทัล"

2. การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

          จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะขึ้นในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และกำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ

          กำหนดรายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และกำหนดข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อย่างน้อยหน่วยงานของรัฐต้องส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานของรัฐตามรายการที่กำหนดไว้ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล รวมถึงต้องจัดเก็บข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลและจัดเก็บในฐานข้อมูลหรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศบนระบบดิจิทัล และต้องจัดให้มีสถานที่ติดต่อและเจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

          ให้เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีหน้าที่จัดทำและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามรายการที่กำหนดโดยเร็วที่สุดในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล โดยกำหนดรูปแบบข้อมูล ช่องทาง ความเร็วในการเปิดเผย ความถี่ในการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย

3. การเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารของประชาชน

          ให้มีการยื่นคำขอในการเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารสาธารณะหรือข้อมูลข่าวสารราชการ กำหนดรูปแบบและระยะเวลาส่งมอบสำเนาข้อมูลข่าวสาร การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม การปฏิเสธคำขอ และการให้คำแนะนำในการยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น

4. การปรับปรุงข้อมูลข่าวสารสาธารณะหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

          ให้มีการยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะเพิ่ม ปรับปรุง รายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ หรือส่งมอบข้อมูลข่าวสารของราชการหรือข้อมูลข่าวสารสาธารณะให้ถูกต้อง ครบถ้วน รวมถึงการร้องเรียนกรณีได้รับการปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามคำขอโดยไม่มีเหตุอันสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดระยะเวลาการพิจารณาคำร้องเรียนของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

5. ข้อมูลความลับราชการ

          กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและชั้นของข้อมูลความลับราชการ รวมถึงการกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนข้อมูลความลับราชการเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ คือ ลับที่สุด (75 ปี) ลับมาก (20 ปี) และลับ (10 ปี) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดชั้นความลับ การยกเลิกชั้นความลับ การขยายระยะเวลาในการเปิดเผยได้ไม่เกินคราวละ 3 ปี แต่จะขยายระยะเวลาจนเกินความจำเป็นไม่ได้ และการเผยแพร่บนระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือเว็บไซต์ การจัดทำดัชนีและรักษาคุ้มครองข้อมูล กำหนดให้มีการยื่นคำขอให้แก้ไข ปรับปรุง ข้อมูล รวมถึงการร้องเรียนกรณีได้รับการปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด กำหนดระยะเวลาการพิจารณาคำร้องเรียนของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กำหนดเรื่องการพิจารณาข้อมูลความลับราชการในการพิจารณาคดีของศาล และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลความลับราชการทุกชั้นความลับ

6. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

          ให้มีการจัดระบบข้อมูลส่วนบุคคลและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การออกระเบียบ การจัดระบบข้อมูล การห้ามเปิดเผยข้อมูลโดยปราศจากความยินยอม การเปิดเผยข้อมูลด้วยการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐหากมีข้อมูลส่วนบุคคลรวมอยู่ด้วยต้องแจ้งให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะทราบ รวมทั้ง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

7. การส่งมอบข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุ

          กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุข้อมูลข่าวสารของราชการ และการเก็บรักษาไว้เอง รวมทั้งการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณค่า และจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุ

8. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ   

          ให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 คน และผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐจำนวน 5 คน และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการเป็นเลขานุการ จำนวน 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน มีหน้าที่และอำนาจในการออกระเบียบ กำหนดนโยบาย ส่งเสริม สนับสนุน เสนอความเห็น กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เพิ่มเติม แก้ไข หรือยกเลิก สั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลส่งข้อมูลหรือเอกสาร ออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหยุดเผยแพร่ หรือแก้ไขข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ อนุมัติคำขอผ่อนผันในการเปิดเผยข้อมูล จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี และปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

          กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระ และการพ้นจากตำแหน่ง

9. คณะกรรมการสรรหากรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ    

          ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล และผู้แทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 4 คน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ

10. คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ

          ให้มีคณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้งข้าราชการเป็นเลขานุการ จำนวน 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน มีหน้าที่และอำนาจออกประกาศหรือระเบียบเพื่อกำหนดวิธีการรักษาคุ้มครอง รวบรวมจัดเก็บและรับรองดัชนี ติดตามและตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลความลับราชการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และปฏิบัติการอื่นใด

11. บทกำหนดโทษ

          กำหนดบทคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำการโดยสุจริต กำหนดบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และกำหนดโทษกรณีเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ หรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

          1. หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย

             (1) ส่วนราชการ (ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค)

             (2) หน่วยงานของรัฐสภา ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอัยการ

             (3) องค์การมหาชน

          2. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

          3. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

          4. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

          5. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          7. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

          8. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

          9. สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

        10. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

        11. กรมศิลปากร

        12. หน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ

        13. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)                  

        14. มหาวิทยาลัยของรัฐ

        15. องค์กรควบคุมการประกอบวิชาชีพ

        16. พรรคการเมือง

        17. ภาคเอกชน

        18. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

         1. ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงนิยามให้องค์การมหาชน ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการและอยู่ในกำกับของรัฐ เป็นหน่วยงานของรัฐตามร่างกฎหมายนี้ นอกเหนือไปจากหน่วยงานของรัฐตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้ หรือไม่ อย่างไร

          2. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดนิยามคำว่า “เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” และให้เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้ หรือไม่ อย่างไร

          3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะขึ้นในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ รวมถึงการกำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่คณะกรรมการข้อมูลความลับราชการ

          4. ท่านเห็นด้วยกับรายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อย่างน้อยหน่วยงานของรัฐต้องส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

          5. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามรายการที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้ รวมถึงต้องจัดเก็บข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล และต้องจัดให้มีสถานที่ติดต่อและเจ้าหน้าที่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

          6. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้เอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีหน้าที่จัดทำและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามรายการข้อมูลข่าวสารสาธารณะของเอกชนโดยเร็วที่สุดในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

          7. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ มีสิทธิเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารสาธารณะ รวมถึงหลักเกณฑ์และระยะเวลาการส่งมอบสำเนาข้อมูลข่าวสาร การเรียกค่าธรรมเนียม การปฏิเสธคำขอ รวมถึงการให้คำแนะนำในการยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

          8. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ มีสิทธิยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ให้เพิ่ม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รายการ หรือให้เปิดเผย หรือส่งมอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถร้องเรียนกรณีปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามคำขอ รวมถึงกำหนดระยะเวลาพิจารณาคำร้องเรียนของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

          9. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและชั้นของข้อมูลความลับราชการ รวมถึงการกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนข้อมูลความลับราชการเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        10. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่จัดทำและเปิดเผยรายการข้อมูลความลับราชการ และเผยแพร่บนระบบเครือข่ายสารสนเทศหรือเว็บไซต์ รวมถึงมีหน้าที่ในการจัดทำดัชนี และรักษาคุ้มครองข้อมูล ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        11. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียหรือไม่ มีสิทธิยื่นคำขอให้แก้ไข ปรับปรุง ข้อมูล รายการข้อมูลความลับราชการว่าไม่เข้าเงื่อนไขของข้อมูลความลับราชการ และสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ยื่น คำขอ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามคำขอ และให้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องเรียน หากมีกรณีจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องแสดงเหตุผล และรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        12. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดการพิจารณาข้อมูลความลับราชการในการพิจารณาคดีของศาล รวมถึงการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลความลับราชการทุกชั้นความลับ ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        13. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างกฎหมายนี้ หรือไม่ อย่างไร

        14. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนี้ หรือไม่ อย่างไร

        15. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแล โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูล เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น ตามที่ร่างกฎหมายนี้กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

        16. ท่านเห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อมูลด้วยการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ หากมีข้อมูลส่วนบุคคลรวมอยู่ด้วยต้องแจ้งให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะทราบ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่กำหนดไว้ร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        17. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดหลักเกณฑ์การส่งมอบข้อมูลข่าวสารให้หอจดหมายเหตุ รวมถึงการกำหนดให้มีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ การศึกษา และการวิจัย และผู้แทนกรมศิลปากรตามบัญชีรายชื่อที่กรมศิลปากรประกาศกำหนด เพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณค่า และจัดทำทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุ ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        18. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีที่มาจากผู้แทนพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 4 คน ทำหน้าที่สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงการคัดเลือกกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่กำหนดไว้ร่างกฎหมายนี้ หรือไม่ อย่างไร

        19. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ของผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลข้อมูล เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการและข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        20. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะภายใน 7 วัน หรือภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด รวมถึงการดำเนินการกรณีไม่ปฏิบัติตาม ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        21. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร

        22. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสาธารณะเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร แทนหน่วยงานของรัฐและเอกชนซึ่งมีข้อมูลข่าวสารสาธารณะในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร