ข้อมูลประกอบการพิจารณา
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการกฤษฎีกาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะให้สอดคล้องกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการกฤษฎีกาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาสอดคล้องกับการพ้นจากตำแหน่งตามวาระของกรรมการกฤษฎีกา และเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมการกฤษฎีกาที่มีความรู้ความสามารถได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อยกเว้นที่มิให้นำวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการกฤษฎีกามาใช้บังคับกับกรรมการกฤษฎีกาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ กล่าวคือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กรรมการกฤษฎีกามีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง” ต่อมาได้มีการเพิ่มมาตรา ๑๒ วรรคห้า โดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ความในวรรคหนึ่งมิให้นํามาใช้บังคับกับกรรมการกฤษฎีกาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะตามมาตรา ๑๕”
เห็นด้วยหรือไม่ที่ควรกำหนดให้กรรมการกฤษฎีกาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง