กำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุหกสิบปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับบำนาญพื้นฐานแบบถ้วนหน้าเป็นเงินรายเดือน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ โดยมีอัตราการจ่ายเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าสามพันบาทต่อเดือนเพื่อให้เพียงพอ และเหมาะสมต่อการดำรงชีพอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่ให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำ ซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ของบุคคลที่ได้รับบำนาญตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น หรือตามมติคณะรัฐมนตรี
กำหนดให้มีคณะกรรมการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเหมาะสมและเป็นไปตามสัดส่วน โดยให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย เสนอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินระบบบำนาญต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ จัดทำแผนบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปี กำหนดระเบียบและวิธีการจ่ายบำนาญ ตลอดจนติดตามกำกับดูแล และตรวจสอบพร้อมรายงานการประเมินผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจออกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรับเงินบำนาญ รวมถึงการสรรหา และแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
กำหนดให้มีสำนักงานบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า (สบถ) เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง โดยมีหน้าที่และอำนาจ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า จัดทำงบประมาณบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้ารายปี และงบประมาณบริหารจัดการสำนักงานเพื่อเสนอคณะกรรมการอนุมัติและรัฐสภาพิจารณา บริหารจัดการระบบการจ่ายบำนาญ จัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ จัดทำฐานข้อมูลระบบบำนาญกลาง รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
กำหนดให้มีกองทุนบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ประกอบด้วย เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าบริหารกองทุน