สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสุทัศน์ เงินหมื่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

          1. กำหนดบทนิยาม

             “การทรมาน” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์รวมทั้งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

             (1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

             (2) ลงโทษผู้ถูกกระทำ โดยมีเหตุจากการกระทำซึ่งผู้นั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือ  ถูกสงสัยว่าได้กระทำ

             (3)  ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม หรือ

             (4)   เพราะเหตุผลใด ๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด

แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามพันธกรณีและมาตรฐานระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่

             “การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามพันธกรณีและมาตรฐานระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่

             “ควบคุมตัว” หมายความรวมถึง การจับ คุม ขัง ลักพา กักตัว คุมขัง กักขัง เรียกตัวหรือเชิญตัวบุคคลไปสอบถามหรือซักถาม หรือกระทำด้วยประการอื่นใดอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกาย

             “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัวบุคคล โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือผู้กระทำปฏิเสธว่ามิได้มีการกระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไรหรืออยู่ที่ใด

             “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า เจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และให้หมายรวมถึงบุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

             “ผู้ได้รับความเสียหาย” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการทรมาน การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึงสามี ภริยา คู่ชีวิต ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยของบุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว

             2. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

             3. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำทรมาน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

             4. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

             5. กำหนดบทเพิ่มโทษ กรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ และกำหนดบทลดโทษ กรณีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกบังคับให้สูญหาย โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

             6. กำหนดให้ผู้สมคบ เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เพื่อกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

             7. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือยุติการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

             8. กำหนดให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

             9. กำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งตัวบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

             10. กำหนดให้ความผิดฐานกระทำทรมาน และฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามพระราชบัญญัตินี้ มีอายุความห้าสิบปี และไม่มีอายุความ หากเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่มีลักษณะอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ

             11. กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานใดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานนั้นเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้นำบทบัญญัติในหมวด 3 การสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และบทบัญญัติมาตรา 21/1 ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษไม่นำมาใช้บังคับกับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

             12. กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลพลเรือน และให้นำเอาวิธีพิจารณาคดีตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมาบังคับใช้กับคดีดังกล่าวโดยอนุโลม

             13. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับ
ผู้ถูกควบคุมตัว และให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิและได้รับแจ้งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ไม่ดำเนินการดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ญาติหรือบุคคลเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการมีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ให้เปิดเผยข้อมูลที่บันทึกไว้ดังกล่าวได้

             14. ผู้ได้รับความเสียหาย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ และบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้ โดยเมื่อได้รับคำร้องขอ ศาลต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยทันที และหากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลโดยพลัน รวมถึงมีคำสั่ง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทันที ให้ยุติการทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้มีการรักษาพยาบาลรวมทั้งการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เป็นต้น

             15. กำหนดห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เอง

             16. กำหนดให้ผู้ซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้รับความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง

             17. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล
สูญหาย ประกอบด้วย

                   (1)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ

                   (2)  ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการ

                   (3)  กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายกสภาทนายความ

                   (4)  ผู้แทนผู้ได้รับความเสียหายจากการทรมาน การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย
ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งคัดเลือกกันเองจำนวนสองคน

                   (5)  ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการถูกควบคุมตัว ซึ่งคัดเลือกกันเอง จำนวนสามคน 

                   (6)  ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานจำนวนหนึ่งคน นิติเวชศาสตร์จำนวนหนึ่งคน และด้านจิตวิทยาจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ

                   โดยให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ

             18. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เช่น เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการอื่น ที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้ได้รับความเสียหายที่ครอบคลุมความเสียหายทุกด้าน ซึ่งหมายรวมถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เพียงพอ การบำบัดและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ติดตามดูแล อำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการสืบสวนสอบสวนที่รวดเร็วและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตรวจเยี่ยมหน่วยงานหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ระบุชื่อผู้ร้อง และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
เป็นต้น

             19. กำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น  ถึงแก่ความตาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แม้การปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  2. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
  3. กรมการปกครอง
  4. กระทรวงกลาโหม
  5. สำนักงานศาลยุติธรรม
  6. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  7. สำนักงานอัยการสูงสุด
  8. สภาทนายความ
  9. องค์กรภาคประชาสังคมด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการควบคุมตัว
  10. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทนิยามของคำว่า “การทรมาน” “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “ผู้ได้รับความเสียหาย”
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้มีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีความผิดฐานกระทำทรมาน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือไม่
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่ากำหนดให้มีความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดบทเพิ่มโทษ และลดโทษดังกล่าว
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้สมคบ เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน เพื่อกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือยุติการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
  8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
  9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งตัวบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
  10. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความห้าสิบปี และไม่มีอายุความหากเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่มีลักษณะอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ
  11. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน
  12. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลพลเรือน และนำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมาบังคับใช้โดยอนุโลม
  13. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวและได้รับแจ้งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงกำหนดบทระวางโทษหากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการดังกล่าว
  14. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และศาลอาจมีคำสั่งเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว
  15. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
  16. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีการคุ้มครองบุคคลผู้ซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียน
  17. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
  18. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการ
  19. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรกำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใต้บทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ใช้บังคับแม้การปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ