สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กับคณะ จำนวน 20 คน เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เสนอเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

          1. กำหนดบทนิยามไว้ในร่างมาตรา 4 เช่น

                    “การทรมาน” หมายความว่า การกระทำโดยเจตนาไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่กายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์ เช่น

                    (1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม

                    (2) ลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ

                    (3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือ

                    (4) เพราะเหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด

                    ทั้งนี้ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอันเป็นผลปกติจาก หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

                    “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หมายความว่า การกระทำโดยเจตนาไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มิใช่การทรมาน ทั้งนี้ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติจาก หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

                    “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หมายความว่า การควบคุมตัวหรือการกระทำด้วยประการใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับคำสั่ง การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และได้มีการปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกัน

                    “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม

                             “ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการบังคับบุคคล
ให้สูญหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงสามีภริยา คู่ชีวิต ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยของบุคคลดังกล่าว

                    2. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ประกอบด้วย

                             (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน

                             (2) ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน

                             (3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายกสภาทนายความ

                             (4) ผู้แทนผู้เสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งคัดเลือกกันเอง จำนวนสอง คน

                             (5) ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหากำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการควบคุมตัว ซึ่งคัดเลือกกันเอง จำนวนสามคน

                             (6) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐาน จำนวนหนึ่งคน นิติเวชศาสตร์ จำนวนหนึ่งคน และด้านจิตวิทยาจำนวนหนึ่งคนเป็นกรรมการ

                             โดยให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 6)

                   3. กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เช่น เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือมาตรการที่จำเป็นตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการป้องกันการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการบังคับบุคคลให้สูญหายในหน่วยงานของตน กำหนดนโยบาย และมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหายอย่างครอบคลุม กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายทั้งทางการเงิน และทางจิตใจ ตลอดรวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้กับผู้เสียหาย โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล ติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย สนับสนุนช่วยเหลือผู้เสียหาย ด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายและการแพทย์ เป็นต้น (ร่างมาตรา 12)

                   4. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำทรมาน (ร่างมาตรา 17) โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต (ร่างมาตรา 48)

                   5. กำหนดให้มีความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย (ร่างมาตรา 18) โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต (ร่างมาตรา 49)

                   6. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ร่างมาตรา 19) โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (ร่างมาตรา 50)

                   7. กำหนดบทเพิ่มโทษ กรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ (ร่างมาตรา 20) และกำหนดบทลดโทษ กรณีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ช่วยให้มีการค้นพบผู้ถูกบังคับให้สูญหาย โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี (ร่างมาตรา 23)

                   8. กำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการยุยง ส่งเสริม รู้เห็นเป็นใจ ให้ความยินยอม ในลักษณะเป็นผู้สมคบ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการอื่นใดในทำนองเดียวกันเพื่อให้เกิดความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น (ร่างมาตรา 21)

                   9. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือยุติการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น (ร่างมาตรา 22)

                   10. กำหนดให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (ร่างมาตรา 25) และมิให้อ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม
ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใด เพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย (ร่างมาตรา 26)

                   11. กำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งตัวบุคคลใดออกไป

นอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 27)

                   12. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว (ร่างมาตรา 29) และให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิและได้รับแจ้งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 28) หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ร่างมาตรา 51) และให้ญาติหรือบุคคลเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการมีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ให้เปิดเผยข้อมูลที่บันทึกไว้ดังกล่าวได้ (ร่างมาตรา 30)

                   13. กำหนดให้ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานฝ่ายปกครอง คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ และบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้ (ร่างมาตรา 32) โดยเมื่อได้รับคำร้องขอ ศาลต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยทันที (ร่างมาตรา 33) และหากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลโดยพลัน รวมถึงมีคำสั่ง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทันที ให้ยุติการทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้เยียวยาเบื้องต้นทางด้านการเงิน เป็นต้น (ร่างมาตรา 34)

                   14. กำหนดห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เอง (ร่างมาตรา 36)

                   15. กำหนดให้ผู้ซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้รับความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีปกครอง (ร่างมาตรา 37)

                   16. กำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใต้บทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ใช้บังคับแม้การปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ (ร่างมาตรา 38)

                   17. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความห้าสิบปี และไม่มีอายุความ หากเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่มีลักษณะอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ (ร่างมาตรา 40) และให้การกระทำความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาจนกว่าจะเปิดเผยชะตากรรมหรือปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว โดยมิให้เริ่มนับอายุความจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย (ร่างมาตรา 39)

                    18. กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานใดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้  ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานนั้นเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้นำบทบัญญัติในหมวด 3 การสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และบทบัญญัติมาตรา 21/1 ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษไม่นำมาใช้บังคับกับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 43)

                   19. กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญา และนำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมาบังคับใช้โดยอนุโลม (ร่างมาตรา 47)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  2. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
  3. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
  4. กรมการปกครอง
  5. ปลัดกระทรวงมหาดไทย
  6. ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
  7. ปลัดกระทรวงกลาโหม
  8. ข้าราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม
  9. ศาลอาญา
  10. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
  11. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  12. สภาทนายความ และนายกสภาทนายความ
  13.  สำนักงานอัยการสูงสุด
  14. องค์กรภาคประชาสังคมด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลจากการควบคุมตัว
  15. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  16. ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ควรกำหนดบทนิยามของ “การทรมาน” “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือ
ที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “ผู้เสียหาย” หรือไม่ (ร่างมาตรา 4)

          2. ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายหรือไม่ (ร่างมาตรา 6)

          3. ควรกำหนดหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการหรือไม่ (ร่างมาตรา 12)

          4. ควรกำหนดให้มีความผิดฐานกระทำทรมาน โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือไม่ (ร่างมาตรา 17 และ 48)

          5. ควรกำหนดให้มีความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท หากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และหากเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือไม่
(ร่างมาตรา 18 และ 49)

          6. กำหนดให้มีความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษย์ธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือไม่ (ร่างมาตรา 19 และ 50)

          7. ควรกำหนดบทเพิ่มโทษและบทลดโทษหรือไม่ (ร่างมาตรา 20 และ 23)

          8. ควรกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการยุยง ส่งเสริม รู้เห็นเป็นใจ ให้ความยินยอม ในลักษณะเป็นผู้สมคบ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกระทำการอื่นใดในทำนองเดียวกันเพื่อให้เกิดความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นหรือไม่ (ร่างมาตรา 21)

          9. ควรกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือยุติการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นหรือไม่ (ร่างมาตรา 22)

          10. ควรกำหนดให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และมิให้อ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใด เพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ร่างมาตรา 25 และ 26)

          11. ควรกำหนดห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งตัวบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ (ร่างมาตรา 27)

          12. ควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องจัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวและได้รับแจ้งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงกำหนดบทระวางโทษหากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ (ร่างมาตรา 29, 30 และ 51)

          13. ควรกำหนดให้บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และศาลอาจมีคำสั่งเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ (ร่างมาตรา 32, 33 และ 34)

          14. ควรกำหนดห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ (ร่างมาตรา 36)

          15. ควรกำหนดให้มีการคุ้มครองบุคคลผู้ซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความหรือร้องเรียนหรือไม่ (ร่างมาตรา 37)

          16. ควรกำหนดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพบบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใต้บทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ใช้บังคับแม้การปฏิเสธหรือปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัวได้เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับหรือไม่
(ร่างมาตรา 38)

          17. ควรกำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ มีกำหนดอายุความห้าสิบปี และไม่มีอายุความ หากเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่มีลักษณะอย่างกว้างขวางและเป็นระบบหรือไม่
(ร่างมาตรา 39 และ 40)

          18. ควรกำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนหรือไม่ (ร่างมาตรา 43)

          19. ควรกำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญา และนำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมาบังคับใช้โดยอนุโลมหรือไม่ (ร่างมาตรา 47)