สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติเงินบำนาญประชาชน พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะเป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีอายุยืนยาว และเงินสวัสดิการที่รัฐให้เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ของประชาชนในยามที่เป็นผู้สูงอายุมีให้ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น การมีหลักประกันรายได้ถือเป็นสิทธิที่จำเป็น และจะต้องมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้พึ่งตนเองได้ให้มีคุณภาพชีวิตด้วยสิทธิที่เสมอกัน ภายใต้หลักการสวัสดิการที่เป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชนที่ไม่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในระหว่างอาชีพของประชาชน จะทำให้เกิดความเป็นธรรมและมีความเป็นอยู่ที่ดี จึงสมควรที่รัฐจะจัดให้มีเงินบำนาญประชาชนเพื่อให้ประชาชนที่มีอายุหกสิบห้าปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นเพื่อให้รัฐจ่ายเงินสวัสดิการที่เป็นหลักประกันรายได้ของประชาชนในยามที่เป็นผู้สูงอายุที่เท่าเทียมกัน

ข้อมูลประกอบการพิจารณา

  1. กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดให้มีสำนักงานเรียกว่า สำนักงานบำนาญประชาชน เป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง
  2. ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานบำนาญประชาชน เรียกว่า “กองทุนเงินบำนาญประชาชน” เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเงินบำนาญประชาชน สำหรับเป็นค่าครองชีพผู้สูงอายุที่มีอายุหกสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  3. เงินบำนาญประชาชน คือ เงินรายเดือนเป็นบำนาญพื้นฐานที่รัฐจัดให้แก่ผู้สูงอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยนำเงินจากกองทุนเงินบำนาญประชาชนที่รัฐจัดตั้งขึ้น
  4. กองทุนบำนาญประชาชน ประกอบด้วย
  1. เงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  2. เงินได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
  3. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้รับบริจาคหรือมอบให้
  4. เงินอุดหนุนจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
  5. เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือกองทุนได้รับตามกฎหมายหรือโดยนิติกรรมอื่น
  6. ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินกองทุน
  1. ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินบำนาญประชาชน ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีอายุหกสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  3. ไม่เป็นข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับบำนาญ หรือผู้มีสิทธิได้รับบำนาญ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  4. ไม่เป็นผู้ได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายประกันสังคม
  5. ไม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับเงินบำนาญ
  6. ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับบำนาญของรัฐตามกฎหมายอื่น
  1. การจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับบำนาญประชาชนนั้น ให้จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละหนึ่งครั้ง ในอัตราเดือนละสามพันบาท โดยคณะกรรมการเงินบำนาญประชาชนมีอำนาจพิจารณาปรับปรุงจำนวนเงินบำนาญประชาชนในทุกสามปี
  2. ให้มีคณะกรรมการเงินบำนาญประชาชน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายบำนาญประชาชน พิจารณากำหนดอัตราเงินบำนาญประชาชนทุกสามปี จัดทำแผนแม่บทบำนาญประชาชนทุกสามปี พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณประจำปี กำหนดวิธีการจ่ายเงินบำนาญประชาชน และกำกับติดตามและตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินบำนาญประชาชน ฯลฯ

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. กระทรวงการคลัง
  2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  3. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  4. สำนักงบประมาณ
  5. นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการ
  6. ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้รัฐจัดให้มี “กองทุนเงินบำนาญประชาชน” เพื่อจ่ายเงินบำนาญให้ประชาชนในยามที่เป็นผู้สูงอายุ

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุหกสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่จะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญประชาชนจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น จะต้องไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญของรัฐตามกฎหมายอื่น หรือไม่เป็นผู้ได้รับเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายประกันสังคม เป็นต้น

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้สำนักงานบำนาญประชาชนจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิรับบำนาญประชาชนเป็นรายเดือน ในอัตราเดือนละสามพันบาท และให้มีการพิจารณาปรับปรุงจำนวนอัตราเงินบำนาญประชาชนในทุกสามปี