สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง
ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีความมุ่งประสงค์เพื่อให้การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการที่ได้ถูกบังคับใช้มาในระยะเวลายาวนานมีความเหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการจากที่มิได้อาศัยความสมัครใจมาเป็นวิธีการรับสมัครโดยอาศัยความสมัครใจแทนการเรียกมาตรวจเลือก เว้นแต่ในยามสงครามซึ่งมีการเพิ่มบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการเข้ารับราชการทหารได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงมีการกำหนดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของทหารกองประจำการให้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างสอดคล้องต้องกัน 
ร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่เสนอมานี้ได้มีหลักการสำคัญ คือ
1. กำหนดให้การรับราชการทหารของชายที่มีสัญชาติไทยจากเดิมเป็น “หน้าที่” เปลี่ยนเป็น “สิทธิ” ของบุคคลที่มีสัญชาติไทยในการสมัครเข้ารับราชการทหารเพื่อเป็นทหารกองประจำการ
2. กำหนดวิธีการรับสมัครบุคคลโดยสมัครใจเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ
3. กำหนดมาตรฐานและหลักสูตรการฝึกทหารกองประจำการ โดยให้ใช้วิธีการฝึกแบบ
รวมการ ซึ่งต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และหลักสูตรที่ใช้ฝึกต้องรวมถึงความรู้ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหารแบบสากล และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทางทหาร
4. กำหนดหลักการเกี่ยวกับเงินเดือน สวัสดิการ และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นแก่ทหารกองประจำการ รวมถึงกำหนดหลักการเพื่อให้มีทุนประกอบอาชีพแก่ทหารกองประจำการที่ถูกปดลดจากราชการทหารให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
5. กำหนดหลักการเกี่ยวกับการห้ามมิให้ทหารกองประจำการทำงานในลักษณะที่เป็นการรับใช้ส่วนตัว หรือกระทำการอื่นใดที่ละเมิดต่อร่างกาย หรือจิตใจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
6. กำหนดหลักการการเรียกคนเข้ากองประจำการ และการตรวจเลือกคนเข้ากองเฉพาะกรณีที่ต้องมีการเรียกระดมพลในภาวะที่อาจเกิดสงครามในระยะเวลาอันใกล้เท่านั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการตรา “พระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการ
7. กำหนดให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเป็นภูมิลำเนาทหาร 
8. กำหนดวันเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยให้นับแต่วันที่ได้รับการบรรจุกองประจำการ 
9. กำหนดช่วงอายุทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ 
    - อายุไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 1
    - อายุ 30 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 40 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 2
    - อายุ 40 ปีบริบูรณ์แต่ไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ เป็นทหารกองหนุนชั้นที่ 3 
    - บุคคลที่มีอายุมากกว่า 46 ปีบริบูรณ์ให้ปลดพ้นราชการทหารกองหนุนประเภทที่ 1

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ผู้อำนวยการกองการสัสดี กรมการสรรพกำลังกลาโหม
  2. ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน
  3. นายทหาร หน่วยงานฝ่ายสรรพกำลัง
  4. สัสดี นายทหารการสัสดี
  5. หัวหน้าแผนกสัสดี กองทะเบียนพล กรมกำลังพลทหารเรือ
  6. หัวหน้าแผนกสัสดี กองนโยบายและแผน กรมกำลังพลทหารอากาศ
  7. ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ 
  8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  10. บุคคลเพศชายที่มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ ๑๕ ปี ขึ้นไป 
  11. บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลเพศชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มีสัญชาติไทย
  12. ทหารกองเกิน 
  13. ทหารกองประจำการ 
  14. ทหารกองหนุน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ “ทหารกองเกิน” ให้หมายความว่า ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ 
  2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลเป็นเป็นภูมิลำเนาทหาร 
  3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดมีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 
  4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหาร หลักเกณฑ์การบรรจุ และการเกษียณอายุราชการของทหารกองประจำการ 
  5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดวิธีการและหลักสูตรการฝึกทหารกองประจำการ เงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับ และห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นใดให้ทหารกองประจำการทำงานลักษณะรับใช้ส่วนตัว 
  6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการในกรณีที่อาจเกิดภาวะสงคราม 
  7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการเข้ารับราชการทหารกองประจำการที่จะปลด เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 และช่วงอายุที่ให้ปลดพ้นราชการทหารกองหนุนประเภทที่ 1