ความเป็นมา
หลักสากลที่เกี่ยวข้องได้แก่
1.อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 , ค.ศ. 1972 ได้มีการบัญญัติบทนิยามต่าง ๆ เช่น นิยาม คำว่า “กัญชา”
“ต้นกัญชา” “ต้นโคคา” “ฝิ่น” และ “ต้นฝิ่น” เป็นต้น ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติ คำว่า “พืชกระท่อม” แต่อย่างใด ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2518 (ค.ศ. 1975)
2.อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 ไม่ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับ “พืชกระท่อม” ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 (ค.ศ. 1975)
3.อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 ได้มีการบัญญัติบทนิยามต่าง ๆ เช่น นิยาม คำว่า “พืชกัญชา” “ต้นโคคา” และ “พืชฝิ่น” เป็นต้น ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีการบัญญัติ คำว่า “พืชกระท่อม” แต่อย่างใด ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยภาคยานุวัติอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2545 (ค.ศ. 2002)
ในประเทศไทยนั้น อดีตที่ผ่านมาได้มีการใช้ “พืชกระท่อม” เพื่อเป็นยารักษาโรค โดยสรรพคุณทางยา คือ รักษาอาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอ และท้องเสีย โดยได้มีการใช้ใบสด หรือใบแห้งมาเคี้ยว สูบ หรือเป็นน้ำชา ซึ่งในความรู้พื้นบ้านนั้น ได้มีการนำใบกระท่อมมา “ตำพอกแผล” เพื่อรักษาแผลภายนอกด้วย
อนึ่ง ข้อควรระวังของ “พืชใบกระท่อม” อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย โดยก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้ เช่น อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เป็นต้น
ในกรณีของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตั้งแต่อดีต ได้แก่
- พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ในพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญโดยสรุป คือ มาตรา 4 ห้ามไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักรไทย หรือส่งออกพืชกระท่อมไปนอกราชอาณาจักรไทย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และมาตรา 5 ที่ห้ามไม่ให้มีการเสพ ปลูก มีไว้ ซื้อ ขาย ให้ หรือแลกเปลี่ยนพืชกระท่อม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เพื่อประโยชน์ในการประกอบโรคศิลป์ หรืองานด้านวิทยาศาสตร์
- พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ “มาตรา 7 ยาเสพติดแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ..(5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม…..”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 “พืชกระท่อม” ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ “พืชกระท่อม”ดังกล่าวสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ใน “การประกอบโรคศิลป์” ได้จึงถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และใช้ประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์ เช่น อาจจะมีการวิจัย หรือพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และต่อมา ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5
ในปัจจุบันนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จาก “พืชกระท่อม” เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งใบกระท่อมมีสารที่สำคัญ เรียกว่า “ไมทราไจนีน” ที่เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่นเดียวกับยาเสพติดประเภทที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกชา
กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงานทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนต่อความร้อนได้มากขึ้น ดังนั้น ในกลุ่มเกษตรกร หรือผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ จึงได้มีการใช้ใบกระท่อมเพื่อ “เพิ่มพละกำลัง”ในการทำงาน และสามารถนำ “พืชกระท่อม” มาใช้แทนเมทแอมเฟตามมีน (ยาบ้า) ที่มีลักษณะในการ “เพิ่มพละกำลัง”ได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งได้มีการนำ “พืชกระท่อม” มาใช้เป็นยาเพื่อลดอาการขาดยาเสพติดประเภทอื่น ๆ เช่น ฝิ่น หรือ มอร์ฟีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ทางเภสัชของสาร “ไมทราไจนีน” ที่ลดอาการเจ็บปวดได้ เมื่อใช้ในปริมาณ 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับการได้รับมอร์ฟีนในปริมาณ 5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ในปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลก ใช้ “พืชกระท่อม” เป็นยารักษาอาการป่วยเรื้อรังต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต บรรเทาอาการเบาหวาน ลดอาการซึมเศร้า และวิตกกังวล เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “พืชกระท่อม” อาจจะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ก็มีผลดีหลายประการเมื่อนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จึงทำให้มีประเทศต่าง ๆ ได้มีการปลูก “พืชกระท่อม” เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นต้น
สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ในร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้มีการยกเลิกเพื่อไม่ให้ “พืชกระท่อม” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้น จึงทำให้การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับ “พืชกระท่อม” ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงต้องมีการยกเลิกไปทั้งหมดด้วย
1. มาตรา 3 ให้มีการยกเลิกความใน (5) ของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนี้ คือ
““มาตรา 7 ยาเสพติดแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ.. “(5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม…..””
ทั้งนี้ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ “(5) ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึงประเภท 4 เช่น กัญชา พืชฝิ่น”
ดังนั้น ถ้ามีการยกเลิกแล้ว จะทำให้ “พืชกระท่อม” ไม่เป็นยาเสพติดโทษ
2. มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 58/2 มาตรา 75 วรรคสาม มาตรา 76 วรรคสอง มาตรา 76/1 วรรคสาม และวรรคสี่ และมาตรา 92 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562
“มาตรา 58/2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อาจมีมติให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้ท้องที่ใด เป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้โดยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การเสพและการครอบครองพืชกระท่อมที่กระทำตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ”
ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกเพื่อให้ “พืชกระท่อม” ไม่เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 แล้วการที่จะประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการเสพและครอบครองพืชกระท่อมก็จะต้องยกเลิกไปด้วย
“มาตรา 75 ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 26/2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 26/2 นั้น มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ห้ามไม่ให้มีการผลิตนำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ให้กระทำได้ เช่น ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักรไทยไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวโดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิก “พืชกระท่อม” ดังกล่าว การกระทำความผิดในการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายพืชกระท่อม จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 75 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท” จึงสมควรให้มีการยกเลิกมาตรา 75 วรรคสามดังกล่าวนี้
“มาตรา 76 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 26/3 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 26/3 มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย หรือครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต และการมีไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิก “พืชกระท่อม” ดังกล่าว การมีไว้ในครอบครองซึ่ง “พืชกระท่อม” จึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย จึงควรให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 76 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
“มาตรา 76/1 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26/3 โดยมีปริมาณยาเสพติดให้โทษไม่ถึงสิบกิโลกรัม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคสองนั้นเป็นพืชกระท่อมผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
ทั้งนี้ สาระสำคัญตามบทบัญญัติในกฎหมายมาตรา 76/1 นั้น เป็นบทกำหนดโทษในการกระทำความผิดฐานการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ โดยฝ่าฝืนมาตรา 26/3 ดังกล่าว แม้ยาเสพติดจะมีปริมาณไม่ถึงสิบกิโลกรัม และถ้ายาเสพติดที่เป็น “พืชกระท่อม” ก็จะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 76/1 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อมียกเลิกเพื่อให้ “พืชกระท่อม” ไม่เป็นยาเสพติดแล้ว จึงควรให้ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ในมาตรา 76/1 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และในกรณีบทบัญญัติที่ให้ต้องระวางโทษหนักขึ้นเนื่องจากยาเสพติดให้โทษมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมตามมาตรา 76/1 วรรคสอง ถ้าการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่ง ยาเสพติดให้โทษที่เป็น “พืชกระท่อม” จึงได้มีการบัญญัติโทษไว้ตามมาตรา 76/1 วรรคสี่ ดังนั้น เมื่อมียกเลิกเพื่อให้ “พืชกระท่อม” ไม่เป็นยาเสพติดแล้ว จึงควรให้ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ในมาตรา 76/1 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคสองนั้นเป็น
พืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
“มาตรา 92 ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 58 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท”
ทั้งนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 58 วรรคสอง ที่มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ห้ามไม่ให้เสพยาเสพติดประเภทที่ 5 เว้นแต่การเสพนั้นเป็นการเสพเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นต้น โดยบทบัญญัติมาตรา 92 เป็นบทกำหนดโทษสำหรับผู้เสพยาเสพติดที่ฝ่าฝืนมาตรา 58 ที่ไม่ใช่เป็นการเสพในกรณีต่าง เช่น ตามคำสั่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม