สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 133 (3) บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และมาตรา 256 (1) บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 258 ค.(4) บัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย สมควรกำหนดกลไกการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย คือ

1. ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยกำหนดคำนิยามคำว่า "ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ" "ผู้ริเริ่ม" "ผู้แทน" "ร่างกฎหมาย" "การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย" และ "สำนักงาน" เพิ่มเติม
2. กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยร่างพระราชบัญญัติที่จะเสนอต้องประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ บันทึกหลักการ บันทึกเหตุผล บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
3. กำหนดให้มีผู้เริ่มเสนอกฎหมายสามารถมอบอำนาจให้มีผู้แทนในการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายได้
4. กำหนดหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดเผยและเผยแพร่ผลการจัดทำร่างกฎหมาย เชิญชวน ประชาสัมพันธ์หรือให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่าย จัดรับฟังความคิดเห็นและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากร่างกฎหมาย ตลอดจนกำหนดให้การร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องมีเอกสารที่แสดงรายละเอียดและความต้องการของผู้ร่วมเข้าชื่อ
5. กำหนดให้สามารถขอแก้ไขข้อความในร่างกฎหมายได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการของร่างกฎหมายนั้น ตลอดจนกำหนดให้สามารถขอถอนชื่อจากการเข้าชื่อร่างกฎหมายได้
6. กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งเกี่ยวกับรายชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร แจ้งผลการตรวจสอบ ประกาศรายชื่อผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ตลอดจนแจ้งเป็นหนังสือหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการยื่นคำขอคัดค้านชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย
7. กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้คำรับรองก่อนบรรจุระเบียบวาระ และให้ตอบกลับผลการพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
8. กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถจัดทำผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
9. กำหนดให้ร่างกฎหมายที่เสนอตามพระราชบัญญัตินี้และตกไปเพราะเหตุอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ผู้แทนการเสนอกฎหมายมีสิทธิยืนยันเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไปได้ ให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่ 10. กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสามารถขอให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยเหลือและสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
11. กำหนดให้บรรดาการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้สามารถใช้ได้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
12. กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
13. กำหนดให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้แทนการเสนอกฎหมาย และผู้ริเริ่มที่เคยเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมถึงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
2. ส่วนงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ซึ่งสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
3. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
4. กรมการปกครอง
5. สถาบันพระปกเกล้า

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยกำหนดคำนิยามคำว่า "ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ" "ผู้ริเริ่ม" "ผู้แทน" "ร่างกฎหมาย" "การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย" และ "สำนักงาน" เพิ่มเติม หรือไม่
  2. ควรกำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและต้องมีจำนวนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้ร่างพระราชบัญญัติที่จะเสนอต้องประกอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ บันทึกหลักการ บันทึกเหตุผล บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติด้วย หรือไม่
  3. ควรกำหนดให้มีผู้เริ่มเสนอกฎหมายสามารถมอบอำนาจให้มีผู้แทนในการดำเนินการได้ รวมถึงกำหนดให้การร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องมีเอกสารที่แสดงรายละเอียดและความต้องการของผู้ร่วมเข้าชื่อด้วย หรือไม่
  4. ควรกำหนดหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดเผยและเผยแพร่ผลการจัดทำร่างกฎหมาย เชิญชวน ประชาสัมพันธ์หรือให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่าย ตลอดจนจัดรับฟังความคิดเห็นและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากร่างกฎหมาย รวมถึงแจ้งรายชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอ ร่างกฎหมาย ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร แจ้งผลการตรวจสอบ ประกาศรายชื่อผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ตลอดจนแจ้งเป็นหนังสือหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และจัดการกรณีคัดค้านรายชื่อด้วย หรือไม่
  5. ควรกำหนดให้สิทธิผู้แทนการเสนอกฎหมายแก้ไขข้อความในร่างกฎหมายได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการของร่างกฎหมายเดิม ตลอดจนกำหนดให้สามารถขอถอนชื่อจากการเข้าชื่อร่างกฎหมายได้ หรือไม่
  6. ควรกำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถจัดทำผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หรือไม่
  7. ควรกำหนดให้สิทธิแก่ผู้แทนการเสนอกฎหมายสามารถยืนยันเป็นหนังสือให้พิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอ และตกไปเพราะเหตุอายุของสภาสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายในเก้าสิบวันนับแต่ วันที่เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป และให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่ หรือไม่
  8. ควรกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสามารถขอให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยเหลือและสนับสนุนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ หรือไม่
  9. ควรกำหนดให้บรรดาการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้ได้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่เสนอนี้ หรือไม่
  10. ควรกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่