Error inserting IP into survey_ip: ระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
สถานะ : นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะเป็นผู้เสนอ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบการสถานการณ์ในปัจจุบันที่ผู้ใช้แรงงานมากกว่า 30 ล้านคนในตลาดแรงงานไทยมีปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างปรากฏชัด จึงพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ เพื่อทำการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ใช้แรงงานโดยรวม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอำนาจต่อรองและเพิ่มเวลาเรียนรู้สำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มบทนิยาม คำว่า "การจ้างงานรายเดือน” เป็นการจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามี่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเวลาสามสิบวัน (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5))

2. แก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสามสิบห้าชั่วโมง (ร่างมาตรา 4 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 23))

3. แก้ไขเพิ่มเติมให้การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างงานจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะ ได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ใช้แล้วเสร็จไป หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของผู้จ้างงาน โดยผู้ทำงานเป็นรายวัน หรือ รายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน เมื่อคิดหน่วยทำงานต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน อย่างน้อยหนึ่งฉบับ (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 23/1))

4. แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าสองวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินห้าวัน (ร่างมาตรา 6 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28))

5. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบวันทำงาน และกำหนดให้ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าสิบวันก็ได้ และนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้สำหรับลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน (ร่างมาตรา 7 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30))

6. แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกัน ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันต่อบุตรหนึ่งคน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีกเก้าสิบวัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิ (ร่างมาตรา 8 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41))

7. แก้ไขเพิ่มเติมให้ คณะกรรมการค่าจ้างต้องปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มทุกปีในอัตรา ไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ตามแต่ว่าอัตราใดสูงกว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเกิดสภาวการณ์อันเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะรัฐมนตรีอาจมีมติเพื่อยกเว้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดในปีนั้นได้ และให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างตามประสบการณ์ให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งต่ออายุการทำงานหนึ่งปีของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศในปีนั้น ๆ ในกรณีที่ลูกจ้างรับค่าจ้างในอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ให้กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งต่ออายุการทำงานหนึ่งปี โดยใช้วิธีการคำนวณอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือและค่าจ้างตามประสบการณ์ (ร่างมาตรา 9 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87))

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
2. นายจ้าง
3. ลูกจ้าง
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มบทนิยาม คำว่า "การจ้างงานรายเดือน” โดยให้หมายความว่า "การจ้างงานที่มีลักษณะเป็นงานประจำและเต็มเวลา โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อันรวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ 1 เดือน หมายถึงเวลา 30 วัน”
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้การจ้างงานในสถานประกอบการที่มีการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างงานจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะการจ้างงานที่มีความเฉพาะ ได้แก่ งานในภาคเกษตร งานก่อสร้าง งานที่ไม่มีความต่อเนื่อง ใช้แล้วเสร็จไป หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและให้ได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่นของผู้จ้างงาน โดยผู้ทำงานเป็นรายวัน หรือ รายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน เมื่อคิดหน่วยทำงานต้องได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน อย่างน้อย 1 ฉบับ
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่ง ไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 5 วัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ ส่วนกรณีลูกจ้างซึ่งยังทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ โดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตร รวมกันไม่เกิน 180 วันต่อบุตรหนึ่งคน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรส่วนของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตรหรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกิน 90 วัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิดังกล่าว
8. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยอัตราการเพิ่มประจำปีไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ตามแต่ว่าอัตราใดสูงกว่า
9. ท่านเห็นด้วยหรือไม่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างตามประสบการณ์ให้คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพิ่มไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งต่ออายุการทำงาน 1 ปีของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศในปีนั้น ๆ ในกรณีที่ลูกจ้างรับค่าจ้างในอัตราสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ให้กำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างตามประสบการณ์