โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักในสามสถาบัน คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาสนาพุทธเป็นสถาบันศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนบุคคลซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาสั่งสอนให้คนในชาติตั้งอยู่ในศีลธรรม มีสติปัญญา และความเข้มแข็งอันเป็นหลักในการค้ำจุนชาติไทยมาโดยตลอด สมควรสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นพลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติไทย แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับการอุปถัมภ์และส่งเสริมกิจการจากรัฐอยู่บ้างแล้ว แต่ยัง ไม่ครอบคลุมงานหลักของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ทั้งประชาชนทั่วไปยังมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความอุปถัมภ์ และส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จำต้องมีกำลังเสริมให้งานพระพุทธศาสนาดำเนินไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาของรัฐร่วมกับภาคเอกชนเป็นการผนึกกำลังกันเสริมความมั่นคง แก่พระพุทธศาสนาและสร้างประสิทธิภาพในการนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติไทยมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. .... ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. แนวทางการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา
ส่งเสริมการปกครองของคณะสงฆ์ทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของศาสนบุคคลและพุทธศาสนิกชนให้เจริญมั่นคงตามหลักไตรสิกขา ส่งเสริมการจัดการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ครบถ้วนทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมอย่างถูกต้อง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรทางพระพุทธศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรหรือบุคคลที่มีผลงานดีเด่นและเป็นแบบอย่างที่ดีทางพระพุทธศาสนา ส่งเสริมและสนับสนุนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนา สนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ตลอดจนจัดให้มีระบบการบริการสาธารณสุขและการพัฒนาระบบสุขภาพแก่คณะสงฆ์ สามเณร และแม่ชี อย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึง สะดวก มีประสิทธิภาพ (มาตรา 5)
ทั้งนี้ การอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา รัฐจะต้องระดมเงินและทรัพยากรทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ และต่างประเทศ โดยส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 6)
2. คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
2.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการ (มาตรา 7)
(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่
- ผู้แทนมหาเถรสมาคม จำนวน 2 รูป
- ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
- อธิบดีกรมการศาสนา
- อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
- นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
- นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก
- พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม จำนวน 4 รูป
- ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา เทคโนโลยีและการสื่อสาร การต่างประเทศ การสาธารณสุข กฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหารจัดการ จำนวน 9 คน
ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง)
(4) กรรมการและเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
- เลขาธิการคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการ และเลขานุการ
- ให้เลขาธิการคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้งเจ้าหน้าที่
ของสำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ (มาตรา 7)
(5) ที่ปรึกษา ได้แก่
- ปลัดกระทรวงกลาโหม
- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปลัดกระทรวงการคลัง
- ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
- ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
- ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
- ปลัดกระทรวงมหาดไทย
2.2 อำนาจหน้าที่
จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ส่งเสริม และสนับสนุนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรทางพระพุทธศาสนาภาคเอกชนและภาคประชาชน ดำเนินกิจกรรม ตลอดจนประเมินผลการดำเนินงาน และเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา (มาตรา 13 (1) – (4))
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในจัดสรรงบประมาณเพื่อการอุปถัมภ์และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสนับสนุนองค์กรทางพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และประสานงานกับส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน วางระเบียบการในการรับ การเก็บรักษา การจัดหาประโยชน์ และการจ่ายเงินของกองทุน กำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของเลขาธิการ ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมดูแล การดำเนินงาน การบริหารงาน การบริหารงานบุคคล การเงินและทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงาน ออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 13 (5) – (7) (9) – (10) (12))
แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอรายงานประจำปีของสำนักงานต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย หรือตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ (มาตรา 13 (8) (11) (13))
ทั้งนี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาศึกษา เสนอแนะ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ และให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา อนุกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (มาตรา 15, 16)
3. คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
3.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการ (มาตรา 17)
(1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่
- เจ้าคณะจังหวัด
- พระภิกษุ จำนวน ๔ รูป ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของเจ้าคณะจังหวัด
- ปลัดจังหวัด
- หัวหน้าสำนักงานจังหวัด
- ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
- วัฒนธรรมจังหวัด
- สาธารณสุขจังหวัด
- พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
- ประชาสัมพันธ์จังหวัด
- ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด
- พัฒนาการจังหวัด
- ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งแต่งตั้งจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งในเขตจังหวัดเดียวกันซึ่งเลือกกันเองให้เหลือประเภทละ 1 คน
- ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา เทคโนโลยีและการสื่อสาร กฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข และการบริหารจัดการ
(4) ผู้อำนวยการสำนักงานอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ กรรมการโดยตำแหน่งทุกคนต้องเป็นพุทธศาสนิกชน หากมิใช่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองลงมาที่เป็นพุทธศาสนิกชนเป็นกรรมการแทน
3.2 อำนาจหน้าที่
เสนอแนวทางและมาตรการการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาต่อคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตลอดจนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานพระพุทธศาสนาและการดูแลรักษาศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี และศาสนศึกษาภายในจังหวัด (มาตรา 18 (1) – (2))
ประสานงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรทางพระพุทธศาสนา ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อดำเนินกิจกรรม ประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามนโยบายและแผนปฏิบัติระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา (มาตรา 18 (3) – (4))
ส่งเสริมกิจกรรมและประเพณีทางพระพุทธศาสนา สนับสนุนการศึกษาและการปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์ สามเณร แม่ชี และพุทธศาสนิกชน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการรับบริการสาธารณสุขแก่คณะสงฆ์ พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ตลอดจนประสานงานการเดินทางไปนมัสการสัชเวชนียสถานของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน และปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มอบหมาย (มาตรา 18 (5) – (9))
4. สำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
4.1 ฐานะสำนักงาน
สำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (มาตรา 20)
4.2 อำนาจหน้าที่
รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาเสนอต่อคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อพิจารณา ประสานงานและติดตามการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ตลอดจนปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย (มาตรา 22 (1) - (2) (8) – (9))
จัดทำแผนการดำเนินงานของสำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการ และจัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (มาตรา 22 (3) (6) (7))
สนับสนุนและให้คำแนะนำการจัดทำแผนปฏิบัติการของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนติดตามและรวบรวมผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการหน่วยงานของรัฐ และรายงานให้คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบ (มาตรา 22 (4) - (5))
4.3 รายได้ของสำนักงาน (มาตรา 23)
(1) ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
(3) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชนหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
(4) ดอกผล และผลประโยชน์หรือรายได้อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการของสำนักงาน
4.4 การบริหารงานของสำนักงาน
กำหนดให้สำนักงานมีเลขาธิการคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงาน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยให้มีอำนาจหน้าที่อำนาจหน้าที่ในการบริหารงานของสำนักงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของสำนักงาน และตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา นโยบายของคณะรัฐมนตรี และระเบียบข้อบังคับและมติของคณะกรรมการ บังคับบัญชาและประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่งตามระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานโดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ หรือข้อบังคับของคณะกรรมการ ตลอดจนปฏิบัติการอื่นใดตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการ (มาตรา 24, 26, 29)
นอกจากนี้ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนงานของคณะกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดขึ้นตรงต่อเลขาธิการ (มาตรา 31)
5. การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินการดำเนินงานของสำนักงาน
กำหนดให้สำนักงานมีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน ทรัพย์สิน และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามควร ตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ จัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุก&