เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกและดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในไทย จึงต้องมีการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและกำกับดูแลแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันจะช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน รวมถึงพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. กำหนดบทนิยามที่ใช้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย เช่น ผู้ประกอบธุรกิจ ธุรกิจเป้าหมาย ผู้มีอำนาจในการจัดการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลาง
การประกอบธุรกิจทางการเงิน และการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ดังนี้ (ร่างมาตรา 6 ร่างมาตรา 10 ร่างมาตรา 15)
2.1 องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนแปดคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน
2.2 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
(2) กำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจเป้าหมาย การให้สิทธิประโยชน์ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย
(3) กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรแก่ผู้ลงทุนที่ประกอบธุรกิจการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศโดยสินค้ามิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย
(4) กำหนดธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินอื่นให้เป็นธุรกิจเป้าหมาย
(5) กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาตในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย
(6) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียม
(7) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โครงสร้างองค์กร การนำหุ้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ การเลิก ควบ หรือโอนการประกอบธุรกิจเป้าหมาย การชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ การประกอบธุรกิจเป้าหมาย การไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจเป้าหมาย จำนวนและสัดส่วนของพนักงานคนไทยและคนต่างด้าวในสถานที่ประกอบธุรกิจเป้าหมาย และการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้บริโภค
(8) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
(9) พิจารณาการอนุญาต การต่ออายุและการเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย อนุญาตให้เลิก ควบหรือโอนการประกอบธุรกิจเป้าหมาย และการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป้าหมายต่อไปในกรณีผู้ประกอบธุรกิจควบหรือโอนกิจการ
(10) กำหนดบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
(11) กำกับดูแลสำนักงานให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กำหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานและงบประมาณของสำนักงานรวมทั้งออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเกี่ยวกับสำนักงาน
(12) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจเป้าหมายของผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อมีเหตุอันอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ หรือประโยชน์ของประชาชน
(13) ออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้
(14) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกำหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ
(15) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
(16) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี
2.3 ให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
(2) ส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจเป้าหมายในประเทศไทย
(3) ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
(4) กำกับดูแลการประกอบธุรกิจเป้าหมาย เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
3. การกำหนดให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินมีอำนาจกำหนดประเภทและขอบเขตการอนุญาตการประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 35)
4. การกำหนดไม่ให้นำกฎหมายดังต่อไปนี้มาใช้แก่การประกอบธุรกิจเป้าหมาย (ร่างมาตรา 36) คือ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
5. การกำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจเป้าหมายได้จะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศเท่านั้น (ร่างมาตรา 38)
6. การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยตนเอง โดยจะมอบการบริหารจัดการหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบธุรกิจแทนไม่ได้ การห้ามโอนสิทธิในการประกอบธุรกิจเป้าหมายให้บุคคลอื่น การห้ามเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือโครงสร้างองค์กรของผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (ร่างมาตรา 42)
7. การให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริมหรือการอยู่อาศัย สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสิทธิประโยชน์อย่างอื่น (ร่างมาตรา 46 ร่างมาตรา 47 ร่างมาตรา 48 ร่างมาตรา 50 ร่างมาตรา 52)
8. การให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย จะต้องชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (ตามร่างมาตรา 53)
9. การกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจ การตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจ การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เป็นต้น (ร่างมาตรา 66)
10. การกำหนดโทษทางอาญาและมาตรการปรับเป็นพินัย กรณีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 69 ถึงร่างมาตรา 91)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
1.2 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
1.3 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
1.4 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
1.5 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
1.6 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
1.7 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
1.8 ธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กรมที่ดิน
2.2 กรมการจัดหางาน
2.3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
2.4 สมาคมธนาคารไทย
2.5 สมาคมประกันวินาศภัยไทย
2.6 สมาคมประกันชีวิตไทย
2.7 สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย
2.8 สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสิทรัพย์ดิจิทัลไทย
2.9 สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน
1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดคำนิยามตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 3
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน รวมทั้งองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 6 มาตรา 10 และร่างมาตรา 15
3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินมีอำนาจกำหนดประเภทและขอบเขตการอนุญาตการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 35
4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการที่ไม่นำกฎหมายบางฉบับมาใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 36
5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้ที่จะประกอบธุรกิจเป้าหมายได้จะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศเท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 38
6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องประกอบธุรกิจเป้าหมายด้วยตนเอง โดยจะมอบการบริหารจัดการหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบธุรกิจแทนไม่ได้ การห้ามโอนสิทธิในการประกอบธุรกิจเป้าหมายให้บุคคลอื่น การห้ามเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือโครงสร้างองค์กรของผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงการนำหุ้นไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 42
7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจภายใต้การส่งเสริมหรือการอยู่อาศัย สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน สิทธิประโยชน์อย่างอื่น ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 46 ร่างมาตรา 47 ร่างมาตรา 48 ร่างมาตรา 50 ร่างมาตรา 52
8.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการให้ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย จะต้องชักชวน ขายสินค้า โฆษณา หรือให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 53
9.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น การเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ประกอบธุรกิจ การตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ประกอบธุรกิจ การยึดหรือายัดทรัพย์สิน เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เป็นต้น ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 66
10.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดโทษทางอาญาและมาตรการปรับเป็นพินัย กรณีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 69 ถึงร่างมาตรา 91
11.ท่านเห็นว่าปัจจุบันการประกอบธุรกิจทางการเงินกรณีการประกอบธุรกิจเป้าหมายรวมทั้งการดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
12.ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)