โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่ถูกบังคับใช้มาเป็นเวลานานและไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งเป็นการตีตราและนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการทางเพศทำให้ต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน ไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ถูกเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สุจริต รวมทั้งมิอาจเรียกร้องสิทธิของตนจากการถูกล่วงละเมิดหรือถูกเอารัดเอาเปรียบได้ แม้ว่าจะได้ประกอบอาชีพนี้ด้วยความสมัครใจในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 4 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 40 ประกอบกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 ข้อ 7 และข้อ 23 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9 ข้อ 26 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 6 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้
นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีดังกล่าว ยังมิได้ทำให้การค้าบริการทางเพศลดลงตามที่มุ่งหมาย ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ กับทั้งเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ อันไม่สอดคล้องกับหลักการมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ประกอบกับเพื่อให้ผู้สมัครใจประกอบอาชีพในการให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานประเภทหนึ่ง สามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ ในสังคมกับทั้งไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (ร่างมาตรา 3)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2) สำนักงานศาลยุติธรรม
3) สำนักงานอัยการสูงสุด
4) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
5) มูลนิธิ EMPOWER FOUNDATION
6) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)
7) มูลนิธิ Night Light
8) มูลนิธิผู้หญิง
9) มูลนิธิพิทักษ์สตรี
10) มูลนิธิสานสัมพันธ์ครอบครัว
11) สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร การเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 พ.ศ. .... สามารถแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพียงใด
2. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)