สถานะ : เปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อ
    1. กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจ ดังนี้
    (1) อำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้เพื่อทราบข้อเท็จจริงได้ 
    (2) อำนาจในการให้ความเห็นชอบแก่หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี 
ในการออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา 
    (3) อำนาจในการให้ความเห็นชอบแก่พนักงานสอบสวนในการที่จะไปขออนุมัติหมายจับ ขัง หรือค้นจากศาล
    (4) อำนาจตรวจสอบและกำกับการสืบสวนสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีฆ่าผู้อื่น คดีสำคัญ หรือกรณีมีคำร้องขอความเป็นธรรม 
    (5) อำนาจในการให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยพยานหลักฐานในชั้นการสอบสวน เพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร 
    (6) อำนาจอัยการสูงสุดในการชี้ขาดว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ทุกคดีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ รวมถึงคดีที่จะขาดอายุความหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่จะไม่สามารถฟ้องคดีไปก่อนได้ตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการ
    2. กำหนดให้การใช้ดุลพินิจในการสั่งฟ้องตามมาตรา 143 ของพนักงานอัยการจะต้องได้รับหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ทำให้เชื่อว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าผู้ต้องหากระทำความผิด”
    3. กำหนดให้การสอบสวนที่พนักงานงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนตามมาตรา 18 และมาตรา 19 ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการท้องที่แล้ว และพนักงานอัยการท้องที่ได้รับสำนวนและสั่งฟ้องคดี ให้ถือว่าเป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว 
    4. ยกเลิกอำนาจของผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนในการ
ชี้ขาดว่ากรณีการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ 
    5. เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาตามกฎหมายนั้นและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
    6. กำหนดสิทธิให้ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับทราบพยานหลักฐานในชั้นการสอบสวน เพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม 


    


ตารางเปรียบเทียบกฎหมาย (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

    1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
        1) พนักงานอัยการ
        2) นายอำเภอ
        3) ตำรวจ
        4) พนักงานสอบสวน
    2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
        1) ผู้ว่าราชการจังหวัด 
        2) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 
        3) ทนายความ
    3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
        ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

    1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับกำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา อำนาจในการให้ความเห็นชอบแก่หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีในการออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา อำนาจในการให้ความเห็นชอบแก่พนักงานสอบสวนในการที่จะไปขออนุมัติหมายจับ ขัง หรือค้นจากศาล อำนาจตรวจสอบและกำกับการสืบสวนสอบสวน อำนาจในการให้พนักงานสอบสวนเปิดเผยพยานหลักฐานในชั้นการสอบสวน เพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร 
    2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้อำนาจอัยการสูงสุดในการชี้ขาดว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในทุกคดีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ รวมถึงคดีที่จะขาดอายุความหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่พนักงานอัยการจะไม่สามารถฟ้องคดีไปก่อนได้ 
    3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดให้เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับใดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาตามกฎหมายนั้นและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
    4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรกับการกำหนดสิทธิให้ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับทราบพยานหลักฐานในชั้นการสอบสวน เพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม
    5.ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ