เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ได้มีการกำหนดให้คณะกรรมการราชทัณฑ์สามารถพิจารณาลดโทษของผู้ต้องขังในคดีต่าง ๆ ได้ ทำให้ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิตที่ได้กระทำโดยเจตนา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ที่ได้รับการพิจารณาลดโทษเหลือวันต้องโทษจำคุกน้อยลง เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการลดโทษในความผิดดังกล่าวขาดความเกรงกลัวในการรับโทษ และกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดลงมือกระทำความผิด หรือป้องกันมิให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วกระทำความผิดซ้ำ และไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ต้องขังในความผิดดังกล่าว จึงควรกำหนดให้ผู้ต้องขังอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลพิจารณาลดโทษได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญในการกำหนดให้การพิจารณาลดโทษตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มิให้นำมาใช้บังคับกับการกระทำความผิด ดังต่อไปนี้
1) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
2) ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยเจตนา
3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา
4) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
5) ความผิดเกี่ยวกับการทุจริต
ทั้งนี้ ผู้ต้องขังอาจใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาลดโทษในความผิดดังกล่าวได้
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
ผู้ที่เกี่ยวข้อง
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กระทรวงยุติธรรม
1.2 กรมราชทัณฑ์
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2.2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.3 สำนักงานศาลยุติธรรม
2.4 สำนักงานอัยการสูงสุด
2.5 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2.6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
2.7 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
2.8 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
2.9 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
2.10 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
2.11 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
2.12 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
2.13 มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก
2.14 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็ก
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดมิให้มีการพิจารณาลดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิตที่ได้กระทำโดยเจตนา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการทุจริต
2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้ผู้ต้องขังอาจใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาลดโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิตที่ได้กระทำโดยเจตนา ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการทุจริต
3.ท่านเห็นว่า การพิจารณาลดโทษผู้ต้องขังในปัจจุบันมีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วกระทำความผิดซ้ำได้หรือไม่ เพียงใด
4.ข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)