พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการประกอบกิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์มือสอง มิให้เป็นแหล่งรับซื้อขายของโจร รวมถึงเป็นการป้องกันและปราบปรามการใช้กิจการขายทอดตลาดและค้าของเก่าเป็นแหล่งฟอกเงินของผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจพิจารณาก่อนออกใบอนุญาต และควบคุมการประกอบอาชีพว่าผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะประกอบอาชีพหรือไม่ รวมถึงมีการตรวจสถานที่ทำการค้าตลอดจนสถานที่เก็บทรัพย์สินว่ามีความเหมาะสม ควรที่จะได้รับใบอนุญาตหรือไม่ และเมื่อได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่าแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตาม จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 พบว่า ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้มีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการประกอบกิจการค้าของเก่า ที่ปัจจุบันมีการประกอบกิจการลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการค้าของเก่าควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันมิให้กิจการค้าของเก่าเป็นแหล่งซื้อขายของที่ได้มาโดยการกระทำความผิด และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญในการปรับปรุง ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ของเก่า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “ค้าของเก่า” “ร้านค้าของเก่า” “อิเล็กทรอนิกส์” “เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” และคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3)
2. แก้ไขเพิ่มเติมการขออนุญาตประกอบการอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)
3. แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6)
4. กำหนดอายุของใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอใบแทนใบอนุญาต (เพิ่มมาตรา 6/1 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 ทวิ)
5. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้ค้าของเก่า (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)
6. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขและพฤติการณ์ในการเพิกถอนใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9)
7. แก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 และเพิ่มมาตรา 10/1 และมาตรา 10/2)
8. แก้ไขเพิ่มเติมความผิดและบทกำหนดโทษ กรณีประกอบกิจการขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ใบอนุญาตขาดอายุ ประกอบกิจการภายหลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกรณีผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 มาตรา 12 ทวิ มาตรา 12 ตรี และมาตรา 12 จัตวา และเพิ่มมาตรา 12/1 มาตรา 12/2 มาตรา 12/3 มาตรา 12/4 มาตรา 12/8 และมาตรา 12/9
9. กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และกำหนดโทษผู้ขัดขวาง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 และเพิ่มเติมมาตรา 13/1 มาตรา 13/2 และมาตรา 13/3)
ตารางเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง
2) ผู้ว่าราชการจังหวัด
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) ผู้ประกอบอาชีพขายทอดตลาดและค้าของเก่า
2) สมาคมค้าทองคำ
3) สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว
4) สมาคมรีไซเคิลขยะและรับซื้อของเก่า
5) สมาคมนิยมพระเครื่องพระบูชาไทย
6) สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า
7) บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ของเก่า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “ค้าของเก่า” “ร้านค้าของเก่า” “อิเล็กทรอนิกส์” “เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต” และคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่”
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบการอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่า (ร่างมาตรา 5) และการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตและการกำหนดอายุของใบอนุญาต การขอต่ออายุใบอนุญาต และการขอใบแทนใบอนุญาต (ร่างมาตรา 6) รวมถึงการเพิ่มเงื่อนไขและเหตุในการเพิกถอนใบอนุญาต โดยมีเจ้าพนักงานเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต (ร่างมาตรา 10)
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้ค้าของเก่า (ร่างมาตรา 9)
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (ร่างมาตรา 11 และมาตรา 12)
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ กรณีประกอบกิจการขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ใบอนุญาตขาดอายุ ประกอบกิจการภายหลังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกรณีผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรกับการกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบและการสอบสวนข้อเท็จจริง การพิจารณาการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอใบอนุญาต การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต ตรวจสอบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีข้อมูลของการค้าของเก่าที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น (ร่างมาตรา 20 และมาตรา 21)
7. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 มีปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร การเสนอขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สามารถแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพียงใด
8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ