กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าและการใช้บริการเป็นสำคัญ ดังนั้น การบริโภคหรือการใช้บริการต่าง ๆ จึงควรได้มาตรฐานและมีคุณภาพครบถ้วนตามที่ผู้ผลิตได้โฆษณาแนะนำไว้ ด้วยเหตุนี้ หากพบว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริโภคสินค้าและบริการ รัฐในฐานะผู้ปกครองจึงต้องให้ความคุ้มครอง ด้วยการแก้ไขเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับประชาชน
ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้อยู่ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรมีการปรับปรุงการคุ้มคุ้มครองผู้บริโภคให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมและเทียบเท่ามาตรฐานสากล รวมทั้งปรับปรุงบทลงโทษให้มีความเหมาะสม ให้กฎหมายผู้บริโภคสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง โดยร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... มีสาระสำคัญในการปรับปรุง ดังนี้
1. เพิ่มเติมบทนิยามศัพท์คำว่า “ผู้บริโภค” “ผู้ประกอบธุรกิจ” “องค์กรผู้บริโภค” “สินค้าที่เป็นอันตราย” “บริการที่เป็นอันตราย” และ “คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัย”
2. ปรับปรุงหมวด 1 บททั่วไป โดยเพิ่มเติมสิทธิของผู้บริโภค และกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ใช้สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคในกฎหมายอื่น
3. ปรับปรุงหมวด 2 กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดสัดส่วน อำนาจ และกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นใหม่ เพิ่มเติมคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเป็น 7 คณะ และกำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้นใหม่ รวมทั้งเพิ่มเติมอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
4. ปรับปรุงหมวด 3 การคุ้มครองผู้บริโภคเฉพาะเรื่อง โดยเพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการสัญญา ยกเว้นค่าใช้จ่ายในกรณีขอตรวจสัญญา กำหนดให้การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มุ่งคุ้มครองถึงการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอเปลี่ยนสินค้า ลดราคา หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนได้จากกรณีการซื้อสินค้าแล้วพบความชำรุดบกพร่อง รวมถึงกำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยการชี้ขาดและระงับข้อพิพาทเพื่อการเยียวยาความเสียหายสามารถวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมได้
5. ปรับปรุงหมวด 5 การดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยการกำหนดให้องค์กรฟ้องคดีแทนมีสิทธิได้รับค่าป่วยการจากการฟ้องคดี รวมถึงกำหนดอายุการรับรองขึ้น
6. ปรับปรุงหมวด 6 บทกำหนดโทษ
ตารางเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
2) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2) กระทรวงคมนาคม
3) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
4) กระทรวงพาณิชย์
5) กระทรวงมหาดไทย
6) กระทรวงสาธารณสุข
7) กระทรวงอุตสาหกรรม
8) สำนักงานอัยการสูงสุด
9) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
10) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
11) สภาองค์กรของผู้บริโภค
12) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
13) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
14) สมาคมธนาคารไทย
15) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์ของคำว่า “ผู้บริโภค” “ผู้ประกอบธุรกิจ” “องค์กรผู้บริโภค” “สินค้าที่เป็นอันตราย” “บริการที่เป็นอันตราย” และ “คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัย”
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเพิ่มเติมสิทธิของผู้บริโภคเพื่อให้เท่าเทียมกับสิทธิผู้บริโภคในระดับสากล และกำหนดให้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ใช้สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคในกฎหมายอื่นด้วย
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ คุณสมบัติ หน้าที่และอำนาจ และวาระในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง รวมทั้งการเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการสัญญามีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าสัญญาหรือข้อตกลงใดเป็นข้อสัญญาไม่เป็นธรรมและมีอำนาจออกประกาศให้สัญญาหรือข้อสัญญานั้นไม่มีผลใช้บังคับ ออกประกาศเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไขข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว รวมทั้งการกำหนดให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอตรวจสัญญา และการกำหนดให้คณะกรรมการว่าด้วยการชี้ขาดและระงับข้อพิพาทเพื่อการเยียวยาความเสียหายมีการวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม ในกรณีที่การไกล่เกลี่ยในชั้นสำนักงานไม่สามารถตกลงกันได้ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยมุ่งคุ้มครองการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการเพิ่มเติมสิทธิให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญา ขอเปลี่ยนสินค้า ลดราคา หรือเรียกค่าสินไหมทดแทน จากการซื้อสินค้าแล้วพบความชำรุดบกพร่อง
7. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดอายุการรับรองให้องค์กรฟ้องคดีแทน รวมทั้งกำหนดให้มีสิทธิได้รับค่าป่วยการจากการฟ้องคดี
8. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และการปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... สามารถแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพียงใด
9. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)