สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในประเทศต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ประกอบกับก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและมีแนวโน้มลดน้อยลง ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีราคาแพงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าสามารถใช้เทคโนโลยีแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและสถานประกอบการทั่วไปได้ ลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นพลังงานสะอาด แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการเฉพาะ รวมทั้งลดขั้นตอนการขออนุญาตต่อหลายหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดตั้งและการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. กำหนดบทนิยามที่ใช้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนานไฟฟ้า ซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงสถานรวบรวบและสถานกำจัดซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามร่างมาตรา 3
2. กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย หรือในสถานประกอบการ หรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อประโยชน์ในการลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและผู้ประกอบการ และลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งให้เป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนเพื่อให้การกำกับดูแลการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไปโดยถูกต้อง ตามร่างมาตรา 6
3. กำหนดให้การติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย หรือในสถานประกอบการ หรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ไม่ถือเป็นการประกอบกิจการพลังงานตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน และไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ตามร่างมาตรา 7
4. กำหนดหลักเกณฑ์การขอติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกำหนดให้ผู้ที่จะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวต้องแจ้งให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยไม่ต้องขออนุญาตขนานไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง แต่กำหนดให้ผู้ติดตั้งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวทราบถึงการติดตั้งอุปกรณ์ ที่อยู่ของพื้นที่ที่ทำการติดตั้ง และข้อมูลของอุปกรณ์ดังกล่าว รวมทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ความปลอดภัย และความมั่นคงแข็งแรงในการติดตั้งอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองจากวิศวกรไฟฟ้าและวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร และกำหนดให้ผู้ติดตั้งต้องแจ้งให้อธิบดีหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันติดตั้งแล้วเสร็จ ตามร่างมาตรา 8 ถึงร่างมาตรา 12
5. กำหนดห้ามมิให้จำหน่าย ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้กระแสไฟฟ้าที่ได้จากการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์จากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เว้นแต่เป็นการจำหน่ายฯ แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง หรือบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดในสถานประกอบการของตนเองหรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ การจำหน่ายฯ กระแสไฟฟ้าโดยมีค่าตอบแทนแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นให้อยู่ภายใต้ราคาหรือผลตอบแทนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามร่างมาตรา 13
6. กำหนดมาตรการควบคุมและการทำลายซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทิ้ง รวบรวม หรือทำลายซากอุปกรณ์ดังกล่าวในที่ดินของผู้อื่น ที่สาธารณะ หรือที่รกร้างว่างเปล่า หรือทิ้งปนกับมูลฝอยประเภทอื่น และห้ามมิให้ผู้ใดถอดแยกชิ้นส่วนซากอุปกรณ์ดังกล่าว เว้นแต่เป็นการถอดและประกอบกลับเข้าตามเดิม การซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ การดำเนินการเพื่อการศึกษา ทดลอง และวิจัย หรือการถอดแยกของสถานกำจัดซากอุปกรณ์ดังกล่าว รวมทั้งให้ผู้ติดตั้ง ครอบครอง ใช้ประโยชน์ หรือใช้ไฟฟ้าต้องส่งมอบหรือจัดส่งซากอุปกรณ์ดังกล่าวไปยังสถานรวบรวมหรือสถานกำจัดซากอุปกรณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ใดประสงค์จะจัดตั้งสถานรวบรวมหรือกำจัดซากอุปกรณ์ดังกล่าวต้องขออนุญาตต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตามร่างมาตรา 15 ถึงร่างมาตรา 20
7. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปตรวจสถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ในกรณีที่ทราบหรือได้รับแจ้งเหตุอันมีมูลน่าเชื่อว่าการติดตั้งอาจไม่ได้มาตรฐานหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะหรือสถานที่ใกล้เคียง หรือมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งมีอำนาจออกหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวหรือให้ส่งวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบได้ ตามร่างมาตรา 21
8. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย รวมทั้งกำหนดโทษจำคุกและโทษปรับ ตามร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 31
 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1.1 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
1.2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
1.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
1.4 การไฟฟ้านครหลวง

2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
2.2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
2.3 กรุงเทพมหานคร
2.4 เมืองพัทยา
2.5 สภาวิศวกร
2.6 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
2.7 สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
2.8 สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
- ประชาชน

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดบทนิยามที่ใช้ในพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย หรือในสถานประกอบการ หรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และการกำกับดูแลการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 6 รวมทั้งการกำหนดให้การติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในสถานที่ดังกล่าวไม่ถือเป็นการประกอบกิจการพลังงานตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย หรือในสถานประกอบการ หรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องแจ้งให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ต้องขออนุญาตขนานไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง แต่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวทราบถึงการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดห้ามมิให้จำหน่าย ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้กระแสไฟฟ้าที่ได้จากการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์จากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เว้นแต่เป็นการจำหน่ายฯ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง หรือบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดในสถานประกอบการของตนเองหรือในพื้นที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดมาตรการควบคุมและการทำลายซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งการขออนุญาตจัดตั้งสถานรวบรวมซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือสถานกำจัดซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดให้กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบหรือได้รับแจ้งเหตุมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ มีอำนาจออกหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งข้อมูลหรือให้ส่งวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบได้
7. ท่านเห็นว่าปัจจุบันการส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีปัญหาหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)