สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในบางมาตรามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งเป็นกฎหมายที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และมีความล่าช้าในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งสาธารณูปโภคขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนชนบททั่วประเทศถูกจำกัดสิทธิในโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุ้มครองและแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของประชาชนที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกระจายอำนาจในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งสาธารณูปโภค โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

1. การที่จะกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น จะไม่บังคับแก่ที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครองครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่น หรือที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนเทศบาลแห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่จำนวนหนึ่งคน ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่จำนวนสามคน ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชนจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชนจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการในจังหวัดใดที่มีพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้มีผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และจังหวัดใดที่มีพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มีผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาติตั้งอยู่เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อมีคำขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 13/1 วรรคสอง (ร่างมาตรา 5)
 
4. กำหนดให้บุคคลที่อ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดแห่งชาตินั้นตั้งอยู่เพื่อพิจารณา และมิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ร่างมาตรา 6)

5. กำหนดหน้าที่ให้เมื่อคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดได้รับคำร้องตามมาตรา 12 แล้ว ให้สอบสวนตามคำร้อง ดังนี้ 
5.1 ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ ให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนที่ทับซ้อนออก โดยในระหว่างที่รอดำเนินการเพิกถอนให้ผู้ร้องได้รับการยกเว้นความผิดตามมาตรา 14 และให้กรมที่ดินหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณีดำเนินการออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิรอบครองในที่ดิน
ตามกฎหมายให้แก่ผู้ร้อง หรือหากผู้ร้องยินยอมรับค่าทดแทนความเสียหาย ให้กำหนดให้ก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
5.2 ถ้าปรากฏว่าผู้ร้องได้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินหลังวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ และที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นชุมชน ที่อยู่อาศัย หรือได้ทำประโยชน์จนยากที่จะกลับฟื้นคืนดีตามธรรมชาติได้ และอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ โดยมีสภาพตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ให้เพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินดังกล่าวและให้เป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ โดยในระหว่างที่รอดำเนินการเพิกถอน ให้ผู้ร้องได้รับการคุ้มครองมีให้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 14 (ร่างมาตรา 7)

6. ในกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะใช้พื้นที่บางแห่งภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์ของรัฐอย่างอื่น ให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ทางราชการใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ และในบริเวณดังกล่าว มิให้นำมาตรา 14 และมาตรา 16 มาใช้บังคับแก่การที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงในการปฏิบัติงานเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นในกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่ง มีความประสงค์จะใช้พื้นที่ที่มีเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด (ร่างมาตรา 8)

7. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดระยะเวลาเร่งรัดไว้ให้ต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดภายในไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 9)

8. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับคำขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์ของรัฐอย่างอื่นของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขอตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และบรรดาดำขอที่ได้ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมีอำนาจพิจารณาคำขอนั้นต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพิจารณาคำขอดังกล่าว (ร่างมาตรา 10) 

ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
 

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
    1.1 สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    1.2 กรมป่าไม้
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
    2.1 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
    2.2 กรมที่ดิน
    2.3 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
    2.4 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
    2.5 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    2.6 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
    2.7 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
    2.8 สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
    2.9 สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
    2.10 สำนักงบประมาณ
    2.11 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป 
    ประชาชน 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

    1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติจะไม่บังคับแก่ที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครองครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น หรือที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกิน หรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
    2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด โดยกำหนดให้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชน และผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชนด้านละหนึ่งคน เข้ามาเป็นกรรมการ แทนสัดส่วนกรรมการที่เป็นอัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธร 
    3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้คณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนที่ทับซ้อนออก ในกรณีมีบุคคลอ้างว่ามีสิทธิหรือได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติใดอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดป่าสงวนแห่งชาตินั้นใช้บังคับ
    4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร หากพื้นที่ใดเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินหลังจากวันที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นป่าสงวน แต่มีสภาพเป็นชุมชน ที่อยู่อาศัย หรือได้ทำประโยชน์จนยากที่จะกลับฟื้นคืนดีตามธรรมชาติได้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวออก และให้เป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล แล้วแต่กรณี
    5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะขอใช้พื้นที่ที่มีเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อื่นของรัฐให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัด โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากอธิบดี 
    6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในกรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะขอใช้พื้นที่ที่มีเนื้อที่เกินหนึ่งร้อยไร่ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อื่นของรัฐ ให้อธิบดีเป็นผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 
    7.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร
    8.ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)