โดยที่พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะปัญหาการทับซ้อนระหว่างป่ากับที่ดินอยู่อาศัยหรือทำกินของราษฎรที่ได้ถือครองทำประโยชน์มานานจนไม่มีสภาพความเป็นป่าแล้ว ก่อให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งของราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติกับรัฐและกับราษฎรด้วยกันเอง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปรากฏว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลาห้าปีแล้วนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ทำให้ราษฎรจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม สมควรที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)
2. แก้ไขเพิ่มเติมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10 วรรคหนึ่ง)
3. แก้ไขเพิ่มเติมในการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอุทยานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 22)
4. แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการรองรับและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเป็นอทุยานแห่งชาติ หรือช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 64)
5. แก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาศึกษาและการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดทดแทนได้เพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีดั้งเดิมโดยรอบบริเวณอุทยานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 65)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
1.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
1.3 กรมที่ดิน
2. ผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม
2.1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.3 สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.4 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2.5 กรมป่าไม้
2.6 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.7 สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
2.8 สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
2.9 สมาคมองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งประเทศไทย
2.10 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3. ผู้เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การกำหนดพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใดหรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครองครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายในการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล เว้นแต่เป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐ
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์กรณีที่ปรากฏว่ามีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหรือนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐบาล จะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อน
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดจำนวนและระบุคุณสมบัติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในสัดส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านมานุษยวิทยา สังคมวิทยา สิทธิมนุษยชน วนศาสตร์ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยว และการปกป้องคุ้มครองสิทธิที่ดิน สาขาละหนึ่งคน
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอุทยานแห่งชาติ
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรองรับและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการประกาศเป็นอทุยานแห่งชาติ หรือช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ
6. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาศึกษาและการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดทดแทนได้เพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีพตามวิถีชุมชนหรือวิถีดั้งเดิมโดยรอบบริเวณอุทยานแห่งชาติ
7. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด
8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)