สถานะ : ปิดรับฟังความคิดเห็น รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น รอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างการเงิน
เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ
ข้อมูลประกอบการพิจารณา

                       โดยที่เป็นการสมควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต และสอดคล้องบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการ ให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษา ทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล   มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่

                       ทั้งนี้ การจัดการศึกษาของประเทศจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นที่จะรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต  และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา  การยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนสร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา 

                       การกำหนดให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน 
    
ตารางเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุง (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)

ผู้ที่เกี่ยวข้อง

1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

1)    กระทรวงศึกษาธิการ
2)    กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3)    กระทรวงมหาดไทย

2.    ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม

1)    กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2)    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3)    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4)    สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
5)    สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
6)    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
7)    สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
8)    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
9)    สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
10)    สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
11)    สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
12)    กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
13)    กรมส่งเสริมการเรียนรู้
14)    กรมกิจการเด็กและเยาวชน
15)    สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
16)    สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
17)    สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
18)    สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
19)    สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
20)    สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย
21)    สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย 
22)    สมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย
23)    สมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย
24)    สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
25)    สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป

    ประชาชน
 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการจัดการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ที่กำหนดให้

(1) การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพพลเมืองของประเทศที่สอดคล้องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยยึดหลักการสำคัญ อาทิ หลักการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนของสังคม หลักการกระจายอำนาจเพื่อความเป็นอิสระในการบริหารจัดการและความมีเสรีภาพทางวิชาการของสถานศึกษา การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางการศึกษา ตลอดจนการส่งเสริมการจัดการศึกษาและจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) การกำหนดให้กระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ อาจจัดการศึกษา เฉพาะทางตามความต้องการและความชํานาญของหน่วยงานนั้นได้ โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐาน การศึกษาของชาติ 

(3) ประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพหรือธุรกิจในจังหวัดใด อาจรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลเพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เสนอแนะ อุดหนุน หรือให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษา ของสถานศึกษาในจังหวัดนั้นหรือจังหวัดใกล้เคียงได้

2.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้การจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการประเมินผลการเรียนรู้ ต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและความเหมาะสมของสถานศึกษา รวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงกันทุกระดับและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้

3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดอำนาจหน้าที่และการจัดการระบบการบริหารและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ราชการส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาของรัฐ เอกชน สถานศึกษาอาชีวศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุความมุ่งหมายตามร่างพระราชบัญญัตินี้

4.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มี

(1) องค์กรวิชาชีพครู มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่และอำนาจกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของ วิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา 

(2)การกำหนดให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ทำหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลไปยังราชการส่วนภูมิภาค เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา 

(3) การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนอื่น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด โดยให้ประเมินจากผลการปฏิบัติงานและการสอนตามปกติ และไม่เป็นภาระของผู้รับการประเมินเกินสมควร

5.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา ได้แก่ 1) กองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้สถานศึกษาเอกชน เพื่อให้พึ่งตนเองได้ 2) กองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาของรัฐและเอกชน และ 3) กองทุนส่งเสริมครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุน งานริเริ่มสร้างสรรค์ ผลงานดีเด่น และเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติ

6.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ  และแผนปฏิบัติการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาที่กำหนดให้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยการส่งเสริมให้มีการศึกษาในระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การผลิตและพัฒนาครูให้มีคุณลักษณะตามกฎหมายกำหนด การจัดให้มีการบูรณาการและความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดการศึกษาทุกระดับ การทำหน้าที่ของรัฐ ในการให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และอุดหนุนการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่จะทำให้การศึกษามีคุณภาพ

7.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาหลักสูตร การเรียนรู้และประเมินผล องค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ตามร่างพระราชบัญญัตินี้

8.ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด

9.ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)