พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานและปรากฏว่ามาตรการในกฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่เอื้ออำนวยในการจัดหาที่ดินมากระจายการถือครองให้แก่ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ประกอบกับที่ดินที่ได้มาเพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วนไม่เหมาะสมในการประกอบเกษตรกรรม หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุดได้ แต่กลไกลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเดิมมุ่งเน้นให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้เฉพาะการทำเกษตรกรรมและกิจการสนับสนุนหรือกิจการเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม จึงไม่สามารถบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อประกอบกิจการอื่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ อีกทั้งสิทธิในที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีข้อจำกัดในการแบ่งแยกและโอนสิทธิให้บุคคลอื่น เว้นแต่การตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทายาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสิทธิไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันหรือขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการประกอบเกษตรกรรมหรือใช้ในการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดหาที่ดิน การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินการจัดที่ดิน การโอนสิทธิในที่ดิน การควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และมาตรการป้องกันการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบ รวมทั้งเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างมีระบบ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้การใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ประชาชน และประโยชน์สาธารณะของประเทศ อีกทั้งช่วยรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับเกษตรกรรมไว้ให้เป็นฐานการผลิตการเกษตรที่มั่นคง เพื่อสนองแนวนโยบายรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม (ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ)
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2) กระทรวงมหาดไทย
3) กระทรวงการคลัง
4) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
1) กระทรวงพาณิชย์
2) กระทรวงอุตสาหกรรม
3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4) สำนักงบประมาณ
5) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
6) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
7) คณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย
8) คณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด
9) สมาคมชาวเกษตรกรไทย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดบทนิยามใหม่ในเรื่องการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประกอบกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมภายในเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเจ้าของที่ดินมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือการจัดรูปที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม หรือไม่ อย่างไร
2. ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น พิจารณาอนุมัติแผนงานและโครงการ ตลอดจนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมหรือจัดรูปที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินและเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 11)
3. ท่านเห็นด้วยกับการเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเขตปฏิรูปที่ดิน เขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน และบัญชีรายชื่อของเจ้าของที่ดินและผู้ได้รับสิทธิในการจัดที่ดินโดยเฉพาะในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่ อย่างไร (ร่างมาตรา 18)
4. ท่านเห็นด้วยกับการกำหนดให้เงินที่ได้รับจากค่าเช่า ค่าเช่าซื้อ ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือประโยชน์อื่นใดจากการประกอบกิจการในเขตปฏิรูปที่ดิน ค่าปรับบังคับการ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บตามร่างพระราชบัญญัตินี้ตกเป็นของกองทุนโดยไม่ต้องส่งเข้าคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน หรือไม่ อย่างไร
5. ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยกำหนดกรอบวัตถุประสงค์ให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ อย่างไร
6. ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินรวมถึงการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยจำแนกออกเป็น ๕ เขต คือ เขตพื้นที่เกษตรกรรม เขตพื้นที่ส่งเสริมการประกอบเกษตรกรรม เขตพื้นที่ประกอบกิจการ เขตพื้นที่ชุมชน และเขตพื้นที่เพื่อการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือไม่ อย่างไร
7. ท่านเห็นด้วยกับการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเจ้าของที่ดินมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในการจัดทำระบบน้ำภายในเขตดังกล่าว เพื่อเกษตรกรรมหรือการจัดรูปที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือไม่ อย่างไร
8. ท่านเห็นว่าพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาและมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
9. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)