ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 พ.ศ. .... เสนอเพื่อยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เนื่องจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้เปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่กำหนดให้อำนาจในการชี้ขาดสำนวนที่มีความเห็นแย้งตามหลักการ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” ส่งผลต่อการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและผู้ว่าราชการจังหวัด ในการทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องหรือคำสั่งไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา หรือถอนฟ้องถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ของพนักงานอัยการและผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากการทำความเห็นแย้งคำสั่งดังกล่าว ควรทำโดยหน่วยงานที่เป็นกลางและมีความเหมาะสม สามารถอำนวยความเป็นธรรมในคดีอาญาให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้เข้าถึกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 พ.ศ. .... (ร่างมาตรา 3) ซึ่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1) เพิ่มความมาตรา 21/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การชี้ขาดในกรณีที่เกิดความไม่แน่ชัดว่าพนักสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นกรณีที่การสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยกำหนดให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้ชี้ขาด
2) แก้ไขเพิ่มเติมความในวรรคสามของมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ว่าด้วยการหลักเกณฑ์และวิธีการสรุปสำนวนสั่งคดีของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องหาถูกควบคุมหรือขังอยู่แล้ว หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้ 2 กรณีที่ไม่จำต้องนำตัวผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ คือ กรณีผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือกรณีผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป
3) เพิ่มความมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการที่ไม่ใช่อัยการสูงสุด ซึ่งเป็นกรณีที่สำนวนการสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยกำหนดให้พนักงานอัยการดำเนินการดังต่อไปนี้
3.1) กรณีกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3.2) กรณีจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรอง
ผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
หากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ชาดแต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
ทั้งนี้ บทบัญญัติมาตรานี้ให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ หรือมีคำสั่งไม่ฎีกา หรือมีคำสั่งถอนฟ้องหรือมีคำสั่งถอนอุทธรณ์ หรือมีคำสั่งถอนฎีกา โดยอนุโลม
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.1 สำนักงานอัยการสูงสุด
1.2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
1.3 กระทรวงมหาดไทย
1.4 กรุงเทพมหานคร
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
สำนักงานศาลยุติธรรม
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
2. ปัจจุบันการดำเนินการตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
ท่านคิดว่ามีปัญหาหรือไม่ อย่างไร
3. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)