ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย และไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับในศาลพลเรือน อีกทั้งปัจจุบันโครงสร้างและกิจการทางทหาร ตลอดจนเขตพื้นที่ทหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปตามหลักสากล และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความในคดีและบุคคลที่เกี่ยวข้อง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ
(1) แก้ไขอำนาจในการวางระเบียบราชการของศาลทหารของเจ้ากรมพระธรรมนูญโดยกำหนดให้
เจ้ากรมพระธรรมนูญวางระเบียบราชการของอัยการทหารเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 วรรคสาม
และวรรคสี่)
(2) ยกเลิกศาลจังหวัดทหารออกจากเขตอำนาจของศาลทหารชั้นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับเขตพื้นที่ทหารที่มีการเปลี่ยนแปลง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มาตรา 17 มาตรา 30 และมาตรา 65 (1) ยกเลิกมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 26)
(3) กำหนดให้คณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) เป็นผู้วางระเบียบกำหนดคุณสมบัติ พื้นความรู้ หน้าที่และอำนาจของตุลาการพระธรรมนูญ โดยแยกออกจากตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นอำนาจของกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญซึ่งควรมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรมและมีความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในเรื่องเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหาร ซึ่งบัญญัติอยู่ในมาตรา 11/1 มารวมไว้ในมาตราเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหา
ที่เกี่ยวเนื่องกัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11)
(4) กำหนดองค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง องค์ประชุม และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) เพื่อทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11/1 และเพิ่มมาตรา 11/2 มาตรา 11/3 มาตรา 11/4 มาตรา 11/5 และมาตรา 11/6)
(5) แก้ไขอำนาจศาลทหารในการพิจารณาสั่งลงโทษกรณีมีผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
โดยแยกออกเป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหาก และกำหนดรายละเอียดของโทษที่ศาลมีอำนาจลงได้ไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 และเพิ่มมาตรา 13/1)
(6) แก้ไขเขตอำนาจศาลทหาร โดยปรับปรุงคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร เพื่อให้มีความเหมาะสมและเกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความในคดี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 14)
(7) กำหนดอำนาจของตุลาการพระธรรมนูญนายเดียวในศาลทหารชั้นต้น เพื่อความรวดเร็ว
ในการดำเนินการทางคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษา (เพิ่มมาตรา 25/1)
(8) แก้ไของค์ประกอบขององค์คณะของศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด โดยกำหนดให้มีสัดส่วนของตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29)
(9) แก้ไขตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในการพิจารณาพิพากษา โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของตุลาการพระธรรมนูญที่มีอาวุโสสูงสุด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35)
(10) แก้ไขอำนาจศาลทหารในเวลาไม่ปกติ โดยกำหนดให้ “ในเวลาไม่ปกติ” คือ ในเวลาที่มีการรบ
หรือสถานะสงคราม หรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามเขตอำนาจศาลที่มีอยู่ในเวลาปกติเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 36 วรรคหนึ่ง)
(11) กำหนดให้ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในวิธีพิจารณาความอาญาทหาร มีสิทธิร้องต่อคณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (เพิ่มมาตรา 45/2)
(12) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในศาลทหาร เพื่อให้มี
ความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง (แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในภาค 5 ลักษณะ 2
การควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษ (เพิ่มมาตรา 45/3 และมาตรา 45/4))
(13) กำหนดให้ผู้เสียหายที่มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง
ในคดีอาญาศาลทหารในเวลาปกติ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49)
(14) แก้ไขถ้อยคำที่เกี่ยวกับการให้จำเลยคืนทรัพย์ ใช้ราคาทรัพย์ หรือใช้ค่าสินไหมทดแทน
ในกรณีที่จำเลยกระทำผิด โดยกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ ใช้ราคาทรัพย์ หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่รัฐ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 51)
(15) กำหนดให้คู่ความในคดีแต่งทนายเพื่อว่าต่างหรือแก้ต่างคดีได้ โดยทนายต้องเป็นทนายความ
ตามกฎหมายว่าด้วยทนายความเท่านั้น เว้นแต่กรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีโดยตรง หรือกรณีศาลทหาร
ในเวลาไม่ปกติจะเป็นทนายความที่กระทรวงกลาโหมกำหนดก็ได้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 55)
(16) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องในศาลทหาร (เพิ่มมาตรา 55/1)
(17) แก้ไขการพิจารณาและสืบพยานในศาลทหาร โดยกำหนดให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 59)
(18) แก้ไขหลักเกณฑ์การห้ามอุทธรณ์ฎีกา โดยกำหนดห้ามอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ของศาลทหารในเวลาไม่ปกติเฉพาะในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงครามและศาลอาญาศึกหรือศาล
ที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกเท่านั้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61 วรรคสอง)
(19) แก้ไขหลักเกณฑ์การห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยตัดความในส่วนท้ายที่มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 221 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ เพื่อให้ศาลทหารสูงสุดสามารถรับฎีกาไว้พิจารณาได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 62)
ตารางเปรียบเทียบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ดาวน์โหลดเอกสารประกอบ
1. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
2) กรมพระธรรมนูญ
2. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป
ประชาชน
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้เจ้ากรมพระธรรมนูญวางระเบียบราชการของอัยการทหารเท่านั้น
2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกศาลจังหวัดทหารออกจากเขตอำนาจของศาลทหารชั้นต้น และการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ รวมถึงการกำหนดอำนาจใหม่ของศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลางและศาลทหารสูงสุด
3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) เป็นผู้วางระเบียบกำหนดคุณสมบัติ พื้นความรู้ หน้าที่และอำนาจของตุลาการพระธรรมนูญ
4. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการแก้ไขอำนาจศาลทหารในการพิจารณาสั่งลงโทษกรณีมีผู้กระทำ ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยแยกออกเป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหาก และกำหนดรายละเอียดของโทษที่ศาลมีอำนาจลงได้ไว้ให้ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขอำนาจศาลทหารให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามเขตอำนาจศาลที่มีอยู่ในเวลาปกติเท่านั้น
5. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในวิธีพิจารณาความอาญาทหารมีสิทธิร้องต่อคณะกรรมการตุลาการทหาร (กตท.) และกำหนดให้ผู้เสียหายที่มิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญาศาลทหารในเวลาปกติ รวมถึงการกำหนดให้คู่ความในคดีแต่งทนายเพื่อว่าต่างหรือแก้ต่างคดีได้ โดยต้องเป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความเท่านั้น
6 . ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องในศาลทหารการพิจารณาและสืบพยานในศาลทหาร หลักเกณฑ์การห้ามอุทธรณ์ฎีกาในศาลทหาร และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในศาลทหาร และการควบคุมผู้ต้องหาในกรณีพิเศษ
7. ปัจจุบันการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ท่านคิดว่ามีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ อย่างไร และการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่เพียงใด
8. ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่น ๆ (ถ้ามี)